เรียนอาจารย์และพี่ เพื่อน น้อง ทุกท่านครับ ขอขอบพระคุณที่ Admin Page รับผมเข้าเป็นสมาชิกคนล่าสุด (น่าจะลำดับที่ ๑๑,๕๘๘) ในวันพุธที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๑๕.๓๒ น. ผมเพิ่งสมัคร FB เมื่อเวลา ๒๐.๕๙ น. คืนวันจันทร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ นี้เอง ผมเข้าเรียนชั้น ม.๑ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ รุ่น ๙๐ ครับ เหตุที่ต้องมาขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ ต้องย้อนกลับไปไกลหน่อย คือ เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๐ ไม่ทราบว่ามีอะไรมาดลใจให้เรียบเรียงประวัติโรงเรียนขึ้น จนปัจจุบันคิดว่าเป็นเวลาสมควรแล้วที่จะต้องเผยแพร่ลงในสื่อสังคม On Line ทั้งนี้ มิได้มีผลประโยชน์แอบแฝงใด ทำด้วยใจรักในงานวิชาการเท่านั้น ซึ่งขอคุยหน่อยว่า มีเพื่อนรุ่นเดียวกันมายอ “เหนือนายขึ้นไป ๙ ชั่วคน แล้วลงไปอีก ๙ ชั่วคน ก็ยังไม่เคยมีใครทำ” ขอเชิญสมาชิกทุกท่านลองเข้ามาอ่าน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่ “ลูกหลานทวีธาภิเศก” ของเราต่อไป ผมจะพยายามทยอยลงตามแต่เวลาและโอกาศสมควร ขอบพระคุณมากครับ ดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งใน “ลูกทวีธา” แม้เพียงเสียงน้อยๆ เสียงหนึ่ง สวัสดีครับ
ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651351661815118/
เหนืออื่นใดที่ผมต้องเทิดไว้เหนือเกล้าฯ ก่อนคือสิ่งนี้ครับ มาจาก Post ของ ครูมิ่ง ขาวปลื้ม ซึ่งต้องขอบคุณท่านมาก ที่กรุณาให้ Credit ผม และ ครูนพรัตน์ รัตนวิชัย ที่คงตกแต่ง จนรูปออกมางามเช่นนี้ หลายท่านคงผ่านตามาบ้างแล้ว เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของโรงเรียนชิ้นที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดครับ เมื่อแรกพบ ผมยกมือไหว้ไปที่เครื่องอ่าน Microfilm ตรงหน้า ด้วยความปีติ ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็น ทั้งยังภูมิใจว่า เราคงเป็นคนแรก แทบไม่เชื่อทั้งตาและใจตนเอง แล้วก็น่าแปลกว่า ยามใดที่เกิดมรสุมกับงานค้นคว้า ถ้านำพระราชหัตถเลขาฉบับนี้มามอง มานั่งอ่านจะเกิดกำลังใจทำงานต่อไป แม้มรสุมนั้นยังไม่คลายไปครับ
ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651900058426945/
๓) รูปใน Post ที่ ๒) ฉบับจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นนะครับ ผมมาตัดแต่งเอง เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากรูปข้างล่างนี้ ใน “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก” ครับ ถ้าใครทันยุคผม คงคุ้นชื่อ อ.ประพนธ์ รอดเรืองงาม อ.เธียรชัย อิ้งจะนิล และ อ.เทวินทร์ ทิศานุพัฒน์ บ้างนะครับ ในสายตาเด็กอย่างผม ท่านช่าง ‘tist กันไปท่านละแบบ คงเป็น ๑ ใน ๓ ท่านนี้แหละครับ ที่เขียนอักษรประดิษฐ ผมประทับใจมาแต่เด็ก จึงเลียนแบบท่านมาลองทำ แล้วลงเป็นหน้าแรกในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ สำหรับพระราชหัตถเลขาฉบับจริงมีหลายหน้านะครับ ตอนท้ายก็มิได้ทรงไว้ว่าอะไร ผมจึงตัดมาเฉพาะความที่พระราชทานนามโรงเรียน แล้วอัญเชิญมาพระบรมนามาภิไธยมาใส่ไว้ จากที่เคยศึกษาพบว่า หากเป็นงานราชการจะทรงว่า “สยามมินทร” แต่ส่วนพระองค์ จะใช้พระนามเดิมดังใน Post นั้นครับ
ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651908911759393/
๔) รูปใน Post ที่ ๒) นั้น Print จาก Microfilm ครับ รูปนี้คือฉบับจริง เป็นลายพระราชหัตถ์ มี ๕ หน้า มาจาก กรมราชเลขานุการในรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันเก็บไว้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ครับ ซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๖๔ ผมขอมาดู สภาพแย่มาก ต้องใส่ถุงมือค่อยๆ หยิบจากแฟ้มที่เย็บรวมกันเหมือนข้อสอบ เจ้าหน้าที่บอกว่า “นี่เห็นอาจารย์เป็นแฟนเก่านะคะ ถึงให้ดู ปรกติไม่อนุญาตทุกกรณีค่ะ” เมื่อดูเสร็จ เขาจะมี Box ให้เก็บ รอเวลา ๒-๓ วันไป Scan ตามคิว ซึ่งก็คนละหน่วยงานกันอีก ห้องเอกสารคือ ห้องกรมหลวงพิชิตปรีชากร ห้อง Scan คือห้องรูป หรือ ห้องบุรฉัตร ซึ่งก็โดนแซวอีก แต่ก็ยอมโดยดี มีเงื่อนไขว่า ต้องมาค้นคว้าทุกสัปดาห์ (ใครจะไปทำได้) เพราะหายไปนาน ช่วงรอนั้น ผมได้ชวน ครูปาล์ม พนธกร สุขประเสริฐ หัวหน้างานพิพิธภัณฑโรงเรียน ไปดูให้เห็นกับตา เพราะเจ้าหน้าที่ห้องบุรฉัตรบอกว่า “สงสัย Scanเสร็จ คงต้องส่งซ่อม ค่าซ่อมต้องมาเบิกกับอาจารย์นะคะ” ตอบเธอไปว่า ขอเลี้ยงส้มตำวัดเทวราชฯ ข้างๆ นี่แทนก็แล้วกัน ครูปาล์มคงมัวเยี่ยมบ้านน้องนักเรียนอยู่ จึงไปไม่ทัน แต่ก็ได้เห็นเอกสารชุดอื่นที่ผมขอไว้ ต้องเรียนสมาชิกทุกท่านว่า คงเป็นด้วยพระบารมี เพราะการซ่อมนั้น ต้องเอากระดาษสาปะเข้าไปกับตัวเอกสาร ทำให้ความคมชัดลดลงอีก ที่ผมได้มานี้ คือ Scan ตรงจากเอกสาร ไม่ผ่านกระดาษสา ดังนั้น ความคมชัดจึงเทียบเท่าต้นฉบับครับ หลังจากนี้ คงเก็บอย่างเดียว ไม่เอาออกมาให้บริการ ขอนำหน้าแรกมาลงให้ดูก่อน เมื่อถึงความที่เกี่ยวข้อง จะนำมาลงเต็มครับ
ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651931535090464/
๕) มีสมาชิกท่านหนึ่งถามเรื่องศัพท์ “ทวีธาภิเศก” จริงแล้ว ผมเคยคิดว่าน่าจะอธิบายเสียก่อน แต่เป็นเรื่องยาว ทั้งยากเข้าใจ จึงขอผ่านไปก่อน คิดว่าหากมีท่านใดปุจฉามา ค่อยวิสัชนาจะดีกว่า บัดนี้คงถึงเวลาแล้ว จะพยายามลงเป็นตอนสั้นๆ อธิบายให้ง่ายที่สุด ลองติดตามอ่านดูนะครับ รูปด้านล่างนี้ น่าจะเป็นต้นแบบการสร้าง เหรียญทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงษเธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงออกแบบ เป็นลายพิมพ์ผ้ากราบถวายพระในงานพิธีครับ ขอให้สังเกตว่าสะกด “ทวิธาภิเสก” สระ า ลากต่อจาก หาง (บางท่านเรียก หัว ไม่ถูก เพราะตรงนี้เรียกตามปัจจุบันสมัยว่า จุดยกปากกา คือ สิ้นสุดการเขียน) ธ นะครับ คนเก่าๆ จึงมักเรียก “ลากข้าง” ตัวสะกดนี้ น่าจะเป็นทางการครั้งแรกครับ แล้วผมคิดว่า ต้องผ่านสายพระเนตรพระพุทธเจ้าหลวงแน่นอน
ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652111558405795/
๖) ปัญหาแรกคือ ทวิ หรือ ทวี กันแน่ ศัพท์นี้ คำแรกมาจากบาฬีครับ ความหมายเดียวกับ Twice หรือ สอง คำหลังไทยเอามาใช้ กลายความหมายเป็น Plus หรือ เพิ่ม พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงใช้ ทวิ ทุกแห่งตามบาฬี แต่นักปราชญ์อีก ๒ ท่าน คือ พระเจ้าบรมวงษเธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ซึ่งทรงเป็น เปรียญฆราวาส พระองค์แรก และ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงใช้และใช้ ทวี ทุกแห่งอย่างไทยครับ (รูปนำมาลงพักสายตาครับ น่ารักดี มีผู้ใหญ่ที่ทราบความเคยทรงเล่าให้ผมฟังว่า เวลาทรงพระอักษร ไม่ทรงฉลองพระเนตร โปรดใช้แว่นขยายส่องเอาอย่างนี้ครับ แล้วยังโปรด “ผทมอ่าน” อีกด้วย ในรูปเห็นหมา (ท่านไม่เรียกสุนัขครับ) ที่ท่านทรงเลี้ยงไว้ ๒ ตัว รูปนี้อัดจากฟิล์มกระจก น่าจะถ่ายบน พระที่นั่งอุทธยานภูมิเสถียร องค์เก่า ไฟไหม้ไปแล้ว)
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652126175071000/
๗) ปัญหาต่อไปไม่ยากครับ คือ เศก หรือ เษก กันแน่ ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ศ นั้น เข้าใจว่าเป็นของไทย คำเก่าๆ ใช้ ศ ทั้งนั้น เช่น ศุข ศิริ ศีล โอกาศ ส มาจากบาฬี และ ษ มาจากสํสกฤต ที่ปัจจุบันนิยมใช้ เษก ก็มาจากสํสกฤต ดังนั้น ทั้งพระพุทธเจ้าหลวง กรมพระสมมตฯ เจ้าพระยาภาสฯ ทรงใช้และใช้ ศ ตรงกันหมด มีกรมหมื่นปราบฯ อยู่องค์เดียว ใช้ ส ตามบาฬี แต่ถ้าไปเปิดดูพจนานุกรมปัจจุบัน ไม่ว่าฉบับไหนๆ ทวีธาภิเษก ทั้งนั้นครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652137978403153/
๘) เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมขอให้เราลองใช้ทัศนะอย่างอดีต มองกลับไปในอดีต ซึ่งไม่มีราชบัณฑิตมาคอยชี้ขาดผิดถูก สมัยโน้น การสะกดตัวเป็นไปตามปัจเจกบุคคลครับ ศัพท์ “ทวีธาภิเศก”ที่ผ่านสายตาของผม มีหลากหลายตัวสะกด เมื่อราว ๓๐ กว่าปีก่อนโน้น ผมเริ่มค้นคว้างานทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ก็มีความคิดเช่นนี้ แต่ปัจจุบัน ผมไม่กังวลเลย ผมใช้ตามหลักฐานอ้างอิง เขาใช้ตัวอะไรมา เราก็ใช้ไปตามนั้น บางครั้งก็ผันผวนตัวสะกดเอาเอง จนรุ่นน้องที่เอกภาษาไทยบอกว่า “แม้ปวดหัว หาคำอธิบายไม่ได้ แต่ก็แปลกประหลาดและดูเท่ห์ดี” สิ่งที่ผมภูมิใจก็คือ ตั้งแต่งานชิ้นแรกของผมตีพิมพ์ คงในราว พ.ศ.๒๕๓๑ ผมได้รับคำชมมาตลอดว่า “การใช้ภาษาไทยดีมาก” (อาจจะยกตัวไปหน่อย) แม้ในงานค้นคว้าทวีธาฯ นี้ มรสุมลูกสุดท้าย ก็ยังชมว่า ผมใช้ภาษาดี อ่านเพลิน ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อยนะครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652146468402304/
๙) หวังว่าคงตอบปัญหาทั้งหลายได้บ้างนะครับ ตอนนี้ก็ใกล้จะสองยามเต็มที ผมคิดอยู่นานว่าจะ Post ตอบดีไหม แต่ทำอย่างไร ก็นอนไม่หลับ จึงต้องลุกขึ้นมาทำ ขอจบด้วย Post ที่ Copy มานะครับ Post นี้เป็นของ พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ ราชบุรี ผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ พ.ศ.๒๔๔๖-๒๔๔๘ (อ.บัญชา ท่านนายกสมาคมฯ รู้จักครับ) ซึ่งผมขออนุญาตเรียกท่านว่า อ.มหาทองย้อย อธิบายศัพท์ ทวีธาภิเษกอย่างพิศดาร ท่าน Post ให้ในวันเกิดของผม วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๔ แต่อาจอ่านยากอยู่บ้าง ท่านใดไม่ไหว Drag ผ่านไปเลยครับ แต่ก็อยากให้ลองอ่านดู สู้ๆ นะครับ จบ Post นี้ ผมคงหายหน้าไปนานหน่อย กลัวสมาชิกจะเบื่อเอา ขอลงรูปฝีมือ ครูเหม เวชกร (คุณพ่อผมเคยเรียนวาดเขียนกับท่านครับ) พักสายตาเช่นเคย บรรยากาศในรูป เหมือนประชุมทางวิชาการที่เราทำอยู่เลย แล้วผมว่า พวกเราก็เหมือนลูกหลาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ท่านนะครับ เกิดมาได้ ก็เพราะท่าน จริงไหมครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652157658401185/
๑๐) ว่าจะพักการ Post สัก ๒-๓ วัน พอดีมีลูกศิษย์ Inbox เข้ามาถามว่า พระนาม “กรมพระสมมตฯ” จะให้ออกเสียงอย่างไร เรื่องนี้ผมเคยเรียนถาม ผศ.พญ.ม.ล.ดาลัด สวัสดิกุล เพราะในกรมเป็นเสด็จทวดของท่าน แล้วผมก็เอาที่ท่านตอบกับหลักวิชามาผสมกัน คือ ถ้ารู้หลัก เข้าใจง่ายมาก ผมก็บอกไป ลูกศิษย์ว่า ต้องเขียนด้วย ขอเร็วด้วย ตามนั้น เพราะเขารู้ว่าผมอยู่ในโลก Cyber แล้ว ก็ใช้ใหญ่ เสร็จก็นึกถึงประโยชน์ของ “ลูกทวีธา” จึงขอนำมา Post ด้วย กลัวลืม เพราะในกรมพระองค์นี้ ท่านมีบทบาทสำคัญเรื่องตัวสะกด “ทวีธาภิเศก” แต่ก่อนอื่น ขอบอกหลักก่อน เผื่อจะเป็นประโยชน์ครับ นเรศวรฤทธิ์ พิชิตปรีชากร อดิศรอุดมเดช ภูธเรศธำรงศักดิ์ ประจักษ์ศิลปาคม พรหมวรานุรักษ์ ราชศักดิ์สโมสร ทิวากรวงษ์ประวัติ ศิริธัชสังกาศ สรรพศาสตรศุภกิจ สรรพสิทธิประสงค์ เทวะวงษวโรปการ วชิรญาณวโรรส สมมตอมรพันธุ์ วิวิธวรรณปรีชา พงษาดิศรมหิป นราธิปประพันธ์พงศ์ ดำรงราชานุภาพ พิทยลาภพฤฒิธาดา นริศรานุวัดติวงศ์ มรุพงศ์ศิริพัฒน์ สวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ มหิศรราชหฤทัย คงพอเข้าใจนะครับ ทั้งหมดนี้คือพระนามเมื่อทรงรับกรม เรียงตามพี่น้องเลย บางท่านอาจว่าขาดไป ๒+๒ คือ มเหศวรศิววิลาส วิษณุนารถนิภาธร และ พิฆเนศวรสุรสังกาศ พินิตประชานารถ นั้นอยู่กันคนละสำรับครับ จึงไม่คล้องจองกัน ๒ แรก คือพระราชโอรสที่ประสูติก่อนทรงพระผนวช ๒ หลัง คือพระองค์เดียวกัน ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนเรานี่แหละครับ รูปด้านล่างนี้มี Story นะครับ ผมต้องไปค้นหนังสือ แล้วลอกมาให้อ่านกัน คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานคำบรรยายไว้ว่า “ข้าพเจ้าทูลว่า อยากจะฉายพระรูปกรมพระสมมตฯ โดยฐานที่เปนสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณอิกสักรูป ๑ ก็เต็มพระไทย จึงเสด็จมาให้ถ่ายที่บ้านข้าพเจ้า เมื่อต้นปีฉลู พ.ศ.๒๔๕๗ ข้าพเจ้าได้ถ่ายพระรูปนี้เอง พัดเปรียญที่ตั้งไว้ในรูปมิใช่เครื่องประดับ เปนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ทรงตั้งกรมพระสมมตฯ เปนเปรียญ โดยเหตุกรมพระสมมตฯ ได้แปลหนังสือนิบาตชาดกถวาย เมื่อปีมโรงฉศก พ.ศ.๒๔๔๗”
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652551685028449/