เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.3

๒๑) โรงนี้ดูคล้ายเป็นศาลาโถงใหญ่ เหมือน ศาลา ๘๐ พรรษา เดี๋ยวนี้ล่ะครับ รูปนี้เป็นใบเดียวที่เห็นชัดที่สุด ผมว่ารูปใน Post ที่แล้วและ Post นี้ ร้อยทั้งร้อยมาเห็น ก็คงจะบอกยากอยู่ครับ ท่านใดรำลึกอะไรได้ ขอความกรุณาเพิ่มเติมมาเลยนะครับ อย่าเกรงใจ น้องน้อยรอข้อมูลอยู่ครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654303488186602/

๒๒) ส่วนเรื่องเหรียญ พี่กนก จิตรภักดี เคย Post รูปแล้วครับ ผมขออนุญาตเพิ่มเติมนะครับ “๙๐ ปี ทวีธาภิเศก” บอกว่า “ในพิธีเปิดตึกนี้ ทางโรงเรียนจึงสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นเป็นครั้งแรก” ซึ่งก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกนะครับ การทำเหรียญคงต้องทำไปก่อน แล้วก็แก้ไม่ได้ แต่ผมว่าดีนะครับ ไม่อย่างนั้น เราจะไม่ทราบเลยว่าตึกนี้เคยมีชื่ออย่างนี้ บางครั้ง ความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ (จริงแล้วไม่อยากเรียกอย่างนี้เลย กลัวบุคคลร่วมสมัยจะเสียใจครับ) ก็เป็น ประโยชน์ต่อประวัติศาสตร์ เช่นกันครับ อ้อ ข้อความหน้าเหรียญ คือวันเปิดเรียนวันแรกของโรงเรียน ตรงกับวันพฤหัสบดี ร.ศ. ๑๒๑ ครับ ผมมีรูปพิธีพุทธาภิเษกเหรียญนี้จาก อนุสรณ์ทวีธาภิเศก ๒๕๑๔ มาให้ดูด้วยนะครับ แต่น่าเสียดายไม่มีข้อมูลใดเลย ท่านใดทราบขอความกรุณาอีกเช่นกันครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654309938185957/

๒๓) ผมขอเขียนถึงพระองค์ธานีฯ กับตึกพิทย์ฯ อีกสักหน่อยนะครับ ผมรู้สึกว่า ตึกพิทย์ฯ เป็นความภูมิใจแรกของโรงเรียน อ.อุทัย เคนท้าว (ธีรรัช วงศานาถ) เขียนไว้ใน “๑๐๐ ปี ทวีธาภิเศก” พอสรุปได้ว่า แต่ก่อน การจะของบประมาณที่สูงถึงสองล้านบาท มาสร้างตึกเช่นนี้ยากมากครับ “โรงเรียนใดจะได้งบประมาณมาสร้างอาคาร จะต้องสอนนักเรียนให้เก่งและสอบติดบอร์ดใน ๘๐ คนแรกของประเทศ ซึ่งแต่เดิม โรงเรียนยังไม่มีนักเรียนคนใดทำได้มาก่อน แต่ในปีนั้นเอง นักเรียนทวีธาภิเศกสอบติดบอร์ด ๒ คน คนหนึ่งคือลูกชายของอาจารย์เชลง นีละเสวี ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ จึงได้งบประมาณมา” พิธีเปิดก็เช่นกัน “อาจารย์เรวัต ชื่นสำราญกับผู้เขียน ต้องเข้าเฝ้ากรมหมื่นพิทยลาภฯ ที่วังถนนเพชรบุรีหลายครั้งหลายครา พระองค์ท่านได้ประทานหนังสือหลายร้อยเล่ม ให้ห้องสมุดของโรงเรียน” ตรงนี้ผมขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัวนะครับ อาจจะพาดพิงบุคคลอื่นบ้าง ต้องขอประทานโทษก่อน คือ ปัจจุบัน โรงเรียนก็ยังคงรักษาตึกนี้ไว้ เคยได้ยินว่ามีศิษย์เก่ามากันช่วยบูรณะ ก็คงเป็นนิมิตที่ดีต่อไป แต่ผมว่าตึกนี้ น่าจะรักษาไว้ในฐานะ อาคารอนุรักษ์ที่มีชีวิต คือ มีการเรียนการสอนหรือกิจกรรมประจำวันเหมือนปรกติ แล้วก็ต้องมีเกียรติประวัติด้วย สิ่งหนึ่งที่ในเมืองนอกหรือเมืองไทยปัจจุบันนิยมทำก็คือ Hall Way ไม่ยากเลยครับ ผนัง กำแพง ประตู หน้าต่าง (แต่ไม่ใช่เปรอะนะครับ) ติดเข้าไปครับ ประวัติ รูปภาพ รูปปั้น แบบแปลน ข้อมูล เอกสาร คำกราบทูล พระดำรัสตอบ ของประทาน ของถวาย คืออะไรบ้าง เราต้องพยายามหามาให้ครบ (ผมเชื่อว่าต้องอยู่ในโรงเรียนนั่นแหละ) ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ชื่อตึก (อันใหม่นะครับ ไม่ใช่อันเก่าตรงกันสาด นั่นต้องอนุรักษ์ไว้) เป็นผม จะถ่ายลายเซ็นกรมขุนพิทยลาภฯ มาเลย เมื่อวานนี้เอง ผมไปสอน ลูกศิษย์ นักเรียนแพทย์ปี ๓ เองครับ เขาบอกว่า “อาจารย์ โรงเรียนทวีธาฯ ของอาจารย์น่ะ สิ่งที่มันไม่มีขึ้น ไม่มีตก ก็คือ “ชาติกำเนิด”ถ้าไม่คิดรักษาไว้ ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้วล่ะ”

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654351538181797/

๒๔) อีกเรื่องหนึ่งที่ถามกันมามาก ทั้ง In/On/Out Box กันเลย ก็คือเรื่องที่ผมขอรวมมาเรียกว่า “ทวีธาฯ วัดนาคกลาง” นะครับ ตรงนี้ผมเข้าใจเลยว่าเป็นเรื่อง ร่วมสมัย ผลจึงออกมาดังนี้ ขออนุญาตชี้แจงนะครับ งานที่ผมค้นคว้า แยกได้เป็น ๔ เรื่องครับ คือ ๑.กำเนิดโรงเรียนวัดอรุณราชวราราม ๒.พระราชทานกำเนิดโรงเรียนทวีธาภิเศก ๓.โรงเรียนทวีธาภิเศก วัดนาคกลาง และ ๔.เหรียญทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ เรื่องที่ ๒. และ ๔. กระจ่างชัดเจน ขอความกรุณาสมาชิกทุกท่านติดตามอ่านต่อไป (ถ้ายังไม่เบื่อนะครับ) ผมตอบได้ทุกคำถาม ตรงนี้ ขออธิบายเรื่องที่ ๑. ก่อนครับ โรงเรียนวัดอรุณฯ ถือกำเนิด พ.ศ.๒๔๒๘ แน่นอนครับ ดังหลักฐานที่ผมนำมาลง จริงแล้วมีมากกว่านี้ จะนำมาลงครบทุกชิ้น เมื่อเขียนถึงนะครับ รูปที่ ๑-๒ เป็น ราชกิจจานุเบกษา ลงพิมพ์ “ริโปดกราบบังคมทูลพระกรุณา” ของ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร หรือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ครับ ท่านเป็นผู้รับสนองพระราชดำริไปจัดการ “โรงสกูลหนังสือแผนใหม่” จนตั้ง โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกก่อนหน้านี้ แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใดแน่นอนนะครับ อาจจะประมาณ พ.ศ.๒๔๒๗ ก็ได้ ต่อจากนั้นอีก ๑ ปี จึงตั้งโรงเรียนเราเป็นกลุ่มที่ ๒ ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเก่าแก่มากครับ รูปที่ ๓ เป็น “ตรางความรู้นักเรียน” ถ้าดูให้ดี โรงเรียนวัดอรุณฯ อยู่ “ที่เลข ๑๒” ครับ มีนักเรียน มูลบทฯ ในเดือนแปดแรก ๓๔ คน แปดหลัง ๔๕ คน (คงพอเข้าใจนะครับ) แต่เดือน ๗ ไม่มีข้อมูล แสดงว่า วัดอรุณราชวราราม ตั้งโรงเรียนหนังสือไทยแผนใหม่ขึ้นในเดือน ๘ บุรพาสาธ ปีรกาสัปตศก จ.ศ.๑๒๔๗ (ปีนี้ จันทรคติเป็นอธิกมาส ขึ้นเดือน ๘ บุรพาสาธ วันศุกร์ที่ ๑๒ มิถุนายน สิ้นวันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๘ อันนี้ภาษาทางการ แต่คงพอเข้าใจเหมือนเดิมนะครับ) ส่วนรูปที่ ๔ เป็นรายงานฉบับแรกของโรงเรียน ทำขึ้นหลังตั้งโรงเรียนได้ ๑ ปี ใน พ.ศ.๒๔๒๙ เพื่อกราบบังคมทูลฯ พระพุทธเจ้าหลวงครับ “อินสเปกเตอร์” ของสมเด็จท่านไปตรวจ เป็นรายวันกันเลย แล้วมาสรุปรวม นับว่าถี่มาก (ส่วน พ.ศ.๒๔๓๘ ที่เข้าใจกันมานานนั้น ผมจะอธิบายต่อไป อย่าเพิ่งถามตอนนี้เลยนะครับ ถ้าตอบ ก็คงอีกหลาย Post) เรื่องทั้งหมดนี้ มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง Inbox มาว่า “ครูอยากให้ประกิตเป็นผู้ไขกุญแจปริศนานี้ เพราะพูดกันมานานแล้ว” ผมขอตอบอาจารย์ใน Post นี้เลยนะครับว่า “ผมไขประแจกำปั่นนี้ เอาของออกมาแล้ว ขอเชิญผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้เอง ตามแต่วัตถุประสงค์ แต่ตัวผม ขอไม่ทำและไม่ชี้นำอย่างใดทั้งสิ้นนะครับ”

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655026008114350/

๒๕) ส่วนเรื่องที่ ๓. โรงเรียนทวีธาภิเศก วัดนาคกลาง ผมมีข้อมูลอยู่ไม่น้อย ขออนุญาตอ้างถึงนิดหนึ่งนะครับ เมื่อช่วงก่อนวันพุธที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๖ นี้ เคยอาศัย “อวตาร” ลงใน กิตติพงษ์ กุลเวศภัทรวงศ์ (ท่านใดสนใจตามกลับไปดูได้ครับ) พี่ฮุย บอกว่าผลตอบรับดีมาก สมาชิกเข้ามาให้ความเห็นกันเนืองแน่น จริงเท็จไม่ทราบนะครับ เรื่องนี้ผมเข้าใจทุกท่าน แต่ผมตัดสินใจแล้วครับว่า ต้องจบการค้นคว้าเรื่องนี้แล้ว ด้วยเหตุว่า ข้อมูลนั้น มีทั้ง มืดบอดสนิท เลือนราง และ มาก คงทำต่อไปไม่ไหว อาจ กวน ไปนิดหนึ่งนะครับ แต่เป็นเช่นนั้นจริง คืออย่างนี้ครับ “ปรกติประกิตวิสัย” ทุกอย่างต้องกระจ่าง ตัวอย่างนะครับ อ.วรสิทธิ เขียนไว้ว่า ที่ดินตรงนี้ พระเทพสิทธินายก (เหรียง อินฺทสโร ปธ.๓ รูปด้านล่างนี้ มาจาก ๑๐๐ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๘ ครับ) ให้เรา มี “ลายลักษณ์อักษร” ทำไว้ เพียงคำนี้เท่านั้น ผมต้องตีความหลายซับหลายซ้อนเลยครับ เช่น ต้องมี “หนังสือ” ต้องตัด “โฉนด” หลักฐานเหล่านั้นไปอยู่ที่ใด “หนังสือ” ก็น่าจะต้องอยู่ ๓ ที่ คือ กระทรวง โรงเรียน และ วัด “โฉนด” เพิ่มไปอีกที่หนึ่งครับ เขต ใครจะได้ ตัวจริง สำเนาคู่ฉบับ เก็บไว้ ตามแต่ หลักฐานเหล่านี้ ถ้าเราไม่ใช่ “คนใน” โรงเรียน คงไม่มีอำนาจและบารมีพอที่จะเรียกมาดูได้ครับ ส่วนรูปถ่ายทางอากาศ (รูปที่ ๒ ครับ) มาจาก ๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒ ถ่ายก่อนสร้าง ตึกสุรชัยรณรงค์ ช่วงแรก พ.ศ.๒๕๑๘ (รูปที่ ๓ ครับ) มีผู้ขอแผนผังมา เพราะนึกกันไม่ออกเลยว่าที่ผมเขียนไป อาคารใด อยู่ตรงไหนบ้าง ตอนแรกผมจะ Crop แล้วใส่ตำแหน่งบอกไว้ คิดไปคิดมาลงเต็มรูปดีกว่า ท่านใดสงสัย Mark จุดมาถาม หรือจะเพิ่มเติมข้อมูลก็ได้ เรียนเชิญเลยนะครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655029944780623/

๒๖) อีกอย่างหนึ่ง ผมว่า อ.วรสิทธิ ท่านเป็นคนฉลาด ตรงนี้มี Skeleton in the cupboard อยู่โครงหนึ่ง ผมเล่าตรงนี้คงไม่เป็นไร แต่ก็สรุปจากหลักฐานนะครับ เท็จจริงอย่างไร ลองพิจารณาดูครับ เมื่อเราต้องย้ายออกจากวัดอรุณฯ ตอนแรก ท่านเจ้าอาวาส (ออกชื่อก็คงไม่เป็นไร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) ท่านว่าจะให้ที่ดินหลังวัดถึง ๒๐ ไร่ แต่แล้วกลับไม่ให้ โดยไม่มีเหตุผล อ.อุทัย มาเขียนไว้ใน ๑๐๐ ปี ทวีธาภิเศก ว่า “เนื่องจากประชาชนเข้าไปสร้างบ้านพักอาศัยอยู่กันมากมายหลายร้อยหลังคาเรือน” ซึ่งหมายความว่า ถ้าโรงเรียนต้องการ คงต้องไปไล่ที่ชาวบ้านเอาเอง อันจะเป็นไปได้อย่างไร อ.วรสิทธิ ก็ต้องไปหาที่ใหม่ โชคดี ท่านเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม (ผมไม่ทราบชื่อนะครับ แต่จะหาคงไม่ยาก) ท่านให้ที่ถึง ๒๐ ไร่เหมือนกัน แต่กระทรวงฯ บอกว่าไกลไป ก็เลยต้องมาที่ วัดนาคกลาง ซึ่งน้อยกว่ากันเท่าตัว (จากนี้ ผมขอยกความมาลงไม่ตัดเลย แต่ผมขอความกรุณานิดหนึ่งนะครับว่า อ่านแล้วต้องทำใจเป็นกลาง อย่าโกรธอย่าเกลียดนะครับ ถือเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์) “วันดีคืนดี สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เห็นว่า โรงเรียนทวีธาภิเศกย้ายมาอยู่ที่วัดนาคกลางแล้ว ท่านก็ขอชื่อคืน โดยขอให้โรงเรียนใช้ชื่อใหม่ ไม่ให้ใช้ชื่อทวีธาภิเศกอีกต่อไป เรียกว่าถูกหางเลขเข้าก็คงจะได้ ใครจะเห็นดีด้วยเรื่องอย่างนี้ ก็ได้อาศัยท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์เก่าและมีวัยวุฒิพอ ที่ไปช่วยพูดขอร้องกับ รมต. กระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น ชื่อ ทวีธาภิเศก จึงคงอยู่กับพวกเราตลอดมาจนทุกวันนี้” ทั้งหมดนั้น ผมว่าน่าจะจริงครับ ผู้เขียนเป็นอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง ใช้นามปากกาว่า “ครูเก่า” ตอนแรกผมนึกว่าเป็น อ.พัชรี ปิละมานนท์ แต่พอผมโทรศัพท์ไปถาม ท่านว่าน่าจะเป็น อ.อัมพา พึ่งเกตุ พี่สาวท่านมากกว่า (ถ้าอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านเห็น กราบขอโทษอาจารย์ด้วยนะครับที่อ้างถึง) ผมจึงโทรศัพท์ไปเรียนถาม ท่านว่าจำไม่ได้ ต่อเมื่อผมเล่าให้ฟัง ท่านว่า ข้อมูลนี้อาจจะมาจาก อ.ไพโรจน์ เสลานนท์ คุณพ่อของท่าน ดังนั้น อ.วรสิทธิ คงกลัวซ้ำรอย จึงขอให้ เจ้าคุณเทพฯ ท่านทำให้เป็นทางการ หนังสือฉบับนี้ต้องถือเป็น เอกสารสำคัญมาก ของโรงเรียน แต่ไม่มีใครเคยเห็น ไม่มีใครพูดถึง ข้อนี้ก็ มืดบอดสนิท ฉนั้น คำถามของผมคำเดียวเลยครับ Where

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655032358113715/

๒๗) เรื่อง เลือนราง ครับ มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งเขียนไว้ว่า “ในงานเสด็จถวายผ้าพระกฐินหลวง เป็นธรรมเนียมที่โรงเรียนจะต้องไปตั้งโต๊ะหมู่บูชา” ผมกราบขอประทานโทษอาจารย์ท่านนั้นก่อนนะครับ คือธรรมเนียมนี้ เขามีกันทั่วไปแต่โบราณนานมาแล้ว แต่ผมพบอีกข้อมูลที่คล้ายกัน คือ จมื่นมานิตย์นเรศร์ (เฉลิม เศวตนันทน์) ศิษย์เก่ารุ่นดึก รูปด้านล่างนี้ เล่าไว้ยาว ผมขอสรุปมานะครับ คุณปู่จมื่นฯ (ผมคงต้องเรียกอย่างนี้ แต่เราไม่ได้เป็นญาติกันเลย พ่อแม่ผมรู้จักลูกท่านคนหนึ่ง เป็นดาราสมัยก่อนนะครับ คุณลุงอ ดี ศักดิ์ ผมจำชื่อท่านได้แม่นเลย เพราะตอนเด็กๆ ท่านมาที่บ้าน ผมไปเปิดประตู แล้วก็ตะโกน “พ่อ ลุง อ ดิ ศักดิ์มา” ตามประสาเด็กนิสัยเสีย พอท่านเข้ามาในบ้าน ก็เรียกผมไปเขกกะโหลกทีนึง “ไอ้หนู ชื่อลุง อ ดี ศักดิ์ ลูก”แล้วให้เงินผม เหมือนจะบาทนึงหรือ ๕ บาทนี่แหละครับ) เล่าว่า “ในพิธีเสด็จทรงถวายผ้าพระกฐินวัดอรุณราชวราราม โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลที่ ๕ ทุกปี เป็นธรรมเนียม นักเรียนทวีธาภิเศกต้องมาตั้งแถวร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีรับเสด็จฯ เคียงโต๊ะที่บูชาจัดแบบจีน มีเงินพระราชทานแจก ลูกบทได้หนึ่งสลึง ต้นบทได้สองสลึงเท่าครู ทั้งได้ยืนหน้าแถวด้วย ท่านเป็นต้นบททุกปี ยืนเด่นอยู่คนเดียว ในหลวงทอดพระเนตรทรงจำได้ เพราะทรงรู้จักคุณพ่อท่าน (พระยาอภิชิตชาญยุทธ) ซึ่งเป็นพระตำรวจหลวง แห่นำเสด็จฯ มา” ผมคิดว่า น่าจะเป็นโรงเรียนเดียว ที่ได้รับเกียรตินี้นะครับ ทั้งการจัดโต๊ะบูชา ก็แปลกอยู่ ขอให้ลองเทียบข้อมูลกันดู แล้วแต่จะเชื่อฝ่ายใดนะครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655034464780171/

๒๘) ส่วน มาก ขอยกตัวอย่าง อ.สำเนียง (บัวทั่ง) ฟักภู่ นะครับ คือ ผมเคยโทรศัพท์ถามบางเรื่องที่สงสัยกับอาจารย์เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ได้คำตอบว่า “จำไม่ได้ ประกิตต้องเอารูปมาให้ครูดู ถึงจะนึกออก แต่เธอต้องไม่ลืมนะว่า ครูเป็นครูทวีธาฯ มา ๓๓ ปี เกษียณอายุมา ๓๐ ปีแล้วนะ” ผมได้สติ เกิดปัญญา วิเคราะห์ไปตามหลักฐานเถิด อย่าลำบากลำบนถึงผู้เฒ่าผู้แก่เลย ต่อเมื่อพบกันในวันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๕ นำรูปไปให้ดู ท่านจึงจำได้ แล้วบันทึก VDO ไว้ด้วย ในวันนั้น เราพูดถึง อ.ผ่อนศรี จำปาเทศ อาจารย์เล่าให้ฟังว่า นั่งหลังอาจารย์ไปโต๊ะหนึ่ง ที่ อาคาร ๒ ให้หลังมา ๓-๔ วัน มีคนนำ Clip อ.ผ่อนศรี อวยพรปีใหม่มาลงใน มิ่ง ขาวปลื้ม (ลองไปหาดูกันครับ) ผมโทรไปบอก อ.สำเนียง แล้วถามว่า ใครอายุมากกว่ากัน อาจารย์ตอบว่า “แกจะแก่กว่าครูซัก ๔-๕ ปี” เป๊ะเลยครับ อาจารย์ผ่อนศรี “๑๐๐ ปี”

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655036808113270/

๒๙) เมื่อเขียนถึง อ.สำเนียง ผมขอนำเหตุการณ์ประทับใจ ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว แต่ผมยังรู้สึกเหมือนเมื่อวานนี้เอง มาเล่าสู่กันฟังนะครับ เร็วๆ นี้ มีเพื่อนห้องเดียวกัน กลับมาจาก “เมกา” ท่านถามผมว่า (ขอย่อคำนิดนะครับ ไม่สุภาพ แต่จะแปลง ก็ไม่ได้อรรถรส หวังว่าคงไปขยายกันได้นะครับ) “ฮ. ประกิต อาจารย์สำเนียง ของ ม. นี่ แกดังระดับไหน ว.” ผมตอบท่านว่า “ก. ก็ไม่รู้หรอก ว. แต่จะบอกให้เป็นบุญกะลาบาลโง่ๆ ของ ม. เอาไว้นะ แกดังระดับ สมเด็จพระเทพฯ ถามถึงก็แล้วกัน” รูปใบนี้คือเหตุการณ์ ณ Shot นั้นเลยครับ มีคนเอามาให้ ผมเก็บไว้นานแล้ว ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ผมเรียน ป.ตรี ปี ๔ ครับ พอ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน (ในรูปนะครับ) รับพานไหว้ครูจากท่านเสร็จ ก็ทูลเลย “กบ มังคะ เป็นลูกศิษย์คุณสำเนียง ร้องเพราะ” เท่านั้น ท่านหันมารับสั่งถามผมว่า “สำเนียงไหน นักร้องใช่มั้ย ทำไมหลังๆ มา หายไป ไม่มาร้องเลยล่ะ ต้องให้มาร้องๆ”

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655038794779738/

๓๐) มีผู้ถามเรื่องเพลงและสีประจำโรงเรียนมา บางท่านอาจคิดว่า ก็ เพลงมาร์ชทวีธา สีเขียวขาว ที่เรารู้จักกัน แต่จริงแล้วมีเรื่องราวมากกว่านั้นนะครับ แต่แรกผมไม่อยากเขียน เพราะน่าจะมีผู้ที่ทราบดีอยู่แล้ว แต่พอคิดว่า “ผู้ที่ทราบดี” ทั้งหลายนั้น น่าจะมีอายุนำด้วยเลข ๗ ส่วนรุ่นพี่เลข ๖ และเลข ๕ อย่างผม น่าจะไม่ทราบ จึงขอเขียนไว้จะดีกว่า ถ้าท่านใดจะเพิ่มเติม ขอเชิญได้เลยครับ แต่ต้องขอบอกก่อนว่าเป็นข้อมูลประเภท เลือนราง ของ ทวีธาฯ วัดนาคกลาง นะครับ ใน Post นี้ ผมขอเขียนเรื่องเพลงนะครับ เพลงนี้ผมขอเรียกเองว่า “เพลงลูกเจ้าตาก” ครับ เมื่อสมัยผมเรียน ไม่เคยได้ยินเลย มารู้จักเอาเมื่อค้นคว้านี้เองครับ เพราะเนื้อร้องประโยคต้นที่ว่า “ลูกเจ้าตากใจนักกีฬา”นั้น มีผู้อ้างถึงบ่อยๆ แต่ไม่เคยเห็นเนื้อร้องเต็มเพลง จึงไม่ทราบว่าเพลงอะไร ร้องอย่างไร จนพบบนปกหลัง “ทวีธาภิเศก ๐๘” ดังรูปแรกนะครับ ซึ่งถ้านักดนตรีไทยทุกท่านมาเห็น ก็จะต้องบอกว่าเป็น “เพลงมอญดูดาว” แม้ไม่ตรงแบบนัก จนวันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๖ ผมได้โทรศัพท์ถาม อ.ศักดิ์ชัย ทองทิพย์ ท่านอยู่ในรุ่นนั้นครับ ให้ข้อมูลว่า “เป็นเพลงเชียร์มาก่อนมาร์ชทวีธาภิเศกจริง แต่ร้องกันเล่นๆ” ผมขอให้ท่านร้องให้ฟัง ท่านก็ร้องแบบกระดาก เหนียมอายนิดๆ ไม่ค่อยจะเต็มเสียงนัก แต่ฟังเป็น เพลงมอญดูดาว แน่นอนครับ ผมจึงนำมาเขียนเป็นโน้ตไว้ ดังรูปที่ ๒ ท่านใดอ่านได้ ร้องได้ ลองอัดมาฟังกันดูบ้างนะครับ อีกอย่างหนึ่ง ผมเห็นแปลกที่ว่า เพลงนี้ ทำไมไปพ้องกับ เพลงราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๗ ตรงนี้เป็นเรื่องเฉพาะทางดนตรีไทยเล็กน้อย แต่ลองอ่านดูนะครับ เพลงนี้ของเดิมขาดจังหวะ (หน้าทับปรบไก่) ไป ๔ ห้อง พระปกเกล้าฯ ท่านเติมเข้าไปจนครบ เพลงเรา ผู้แต่งเนื้อเดิม ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครนะครับ ก็เติมเข้าไปจนครบเหมือนกัน แต่คนละที่ ของเราคือตรง “ขวัญใจเราอยู่ที่ธง” ซึ่งร้องซ้ำ ๒ ครั้ง ถ้าร้องครั้งเดียว ขาด ครับ ของ พระปกเกล้าฯ ท่านเติมหลัง “หน่อยเอย” แต่เป็นอีกทำนองหนึ่ง ถ้าไม่มีทำนองนี้ ก็ ขาด เหมือนกัน ผมเล่นดนตรีมานาน เพลงราตรีประดับดาว นักดนตรีไทยรู้จักและเข้าใจเรื่องนี้ดีครับ แต่ของเรา ไม่เคยเห็นที่ไหน ถึงว่าแปลกไงครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655696438047307/