ป้ายกำกับ: เล่าเรื่องทวีธาภิเศก

  • เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.6

    เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.6

    ๕๑) ขอพักเรื่องโรงเรียนไว้นิดหนึ่งนะครับ เมื่อวานนี้ (วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖) พี่ Jeab Chaivut ได้ Post เรื่อง อ.ทัศนี บุณย์เพิ่ม (รูปนี้ท่านถ่ายกับพี่ ชัชวาลย์ รุ่งโรจน์บูรณ์ ครับ) ผมจึงขออนุญาตสมาชิกตรงนี้ เขียนเพื่อรำลึกถึงท่านนะครับ อ.ทัศนี สมัยผมท่านสอนลูกเสือครับ จำได้ว่า เวลาท่านเดินนำขบวนสวนสนามลูกเสือ คู่กับ อ.ศรีนคร หอมสุวรรณ (ลูกสาวอาจารย์วรสิทธิ) นักเรียนเชียร์ท่านเฮทั้งโรงเรียนเลยครับ ผมเพิ่งทราบว่าท่านสอนภาษาอังกฤษ มิน่าเล่า ความทรงจำที่แม่นมากก็คือท่านสอนถัก “ว๊อคเคิ่ลลลล” (ไม่ทราบจะเขียนยังไงให้สื่อได้ เอาว่า L นั้นชัดมากครับ ศัพท์นี้ผมไม่แน่ใจว่าสะกดอย่างไร ในโลก Cyber ว่า woggle ก็ว่าตามกันนะครับ) “ว๊อคเคิ่ลลลล” ที่ท่านสอนต้องใช้เส้นหนังครับ ไปซื้อที่ ศึกษาภัณฑ์ เวลาถักต้องขึ้นรูปกับไม้ให้แน่น ท่านไม่ให้ใช้เชือกร่มหรือไนล่อนนะครับ ว่าลื่น ไม่ดี “ว๊อคเคิ่ลลลล” ของพวกเราทั้งสวย ทั้งแน่น วิ่งยังไงก็ไม่หลุด ไม่เหมือนที่เป็นปลอก ไม่ว่าจะเหล็ก ยาง หนัง หลุดง่ายทั้งนั้นครับ เพื่อนผมใส่วิ่งเตะบอล ยังไม่หลุดเลย อีกอย่างหนึ่งที่ พี่ Jeab Chaivut เขียนเรื่องหนังสือภาษาอังกฤษนั้นนะครับ ถือเป็นวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของโลก ผมต้องมาอ่านเล่มเต็ม ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วก็ติดใจ หาเรื่องอื่นๆ มาอ่าน จริงแล้วสนุกมากครับ ต้องกลับไปรำลึกชาติจากหนังสืออ่านนอกเวลาที่ทวีธาฯ นี่แหละ ชาร์ลอตต์ ลอร์ดน้อยฟอนเติ้ลรอย ฯลฯ ผมเก็บไว้ทุกเล่ม ที่นำมาลงเป็นตัวอย่างนี้คือ The Hunchback of Notre Dame (พอเขียน Post ที่แล้ว จึงนึกได้) ดูเก่านะครับ แต่ถ้าเปิดข้างใน สะอาดเอี่ยมอ่อง ไม่มีริ้วรอยใดเลยครับ ที่จะสารภาพบาปในวันนี้ก็คือ เหล่านี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา อาจารย์ฝรั่งเศสท่านหนึ่งของผม (ไม่ขอออกชื่อนะครับ) ท่านทั้งเคี่ยว ทั้งเข็ญ แปลให้รู้ อ่านให้ฟัง ไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง แต่ไอ้เราน่ะหรือ นั่งตาแป๋วแหล๋วหน้าห้อง ไม่จด ไม่จาร ไม่จำเลย ใจไปอยู่โน่น เต่ง เตง เตร๊ง ท่านติว ท่านสอน เช้า กลางวัน เย็น ทั้งที่บ้านท่านก็อยู่แสนไกล รถราก็ไม่มี ต้องไปกลับรถเมล์ ที่สุดผมไปขอท่านว่า ไม่ติว เพราะจะไม่ใช้วิชาพวกนี้สอบ Ent. ผมจำแววตาผิดหวังเสียใจของท่านได้ชัดจนเดี๋ยวนี้เลยครับ กระนั้น ท่านก็ยังเขียน Friendship ให้ว่า “ขอให้ประกิตเป็นครูสอนดนตรี อย่าสอนวิชาการ” กษณะนั้น สำนึกผิดชอบชั่วดีเกิด แต่สายไปแล้ว ในที่สุด ด้วยเวรกรรม ผมก็มาเป็นรุ่นน้องท่านจนได้ แล้วก็มาเป็นครูดนตรีจนได้ ก็ต้องขอสารภาพบาปท่านไว้ ณ ตรงนี้ด้วยนะครับ อีกสิ่งหนึ่ง ผมทราบว่าปัจจุบันไม่มีหนังสืออ่านประเภทนี้แล้ว ส่วนตัวคิดว่าน่าเสียดายมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กๆ รู้จักวรรณกรรมชั้นเยี่ยม แต่ก็อย่างนั้นนะครับ เป็นธรรมดาโลก ขอจบด้วย นิทานข้อนี้สอนให้รู้ว่า “ในที่มืด เราจะไม่เห็นประกายของเพ็ชร ต่อเมื่อโยนมันไปอยู่ในที่สว่างและเสียมันไปแล้วนั่นแหละ จึงจะเห็น”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658971207719830/

    ๕๒) มีสมาชิกบอกว่า Post ของผมน่าจะ “ยอดนิยม” ไปแล้ว ในฐานะที่ “อยู่บ้านท่าน” ก็ต้องไม่ “นั่งดูดาย” ขอใช้เสียงน้อยๆ ๑ เสียง ช่วยประชาสัมพันธ์ตามกำลัง ขออนุญาตจั่วหัวเรื่องเช่นนี้ทุก Post จนกว่างานจะเสร็จสิ้นนะครับ คราวนี้ก็เรื่อง โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม ซึ่งผมเคยเขียนใน Post ที่ ๒๔ ไม่ทราบว่าจะกลับไปหากันพบหรือไม่นะครับ ผมขอทวนความให้เล็กน้อย เดิมผมลงหลักฐานไว้คร่าวๆ สัญญาว่าจะนำมาลงให้ครบ เมื่อถึงความที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า “โรงเรียนวัดอรุณฯ ถือกำเนิดขึ้นในเดือน ๘ บุรพาสาธ ปีรกาสัปตศก จ.ศ.๑๒๔๗ ซึ่งปีนี้ จันทรคติเป็นอธิกมาส ขึ้นเดือน ๘ บุรพาสาธ วันศุกร์ที่ ๑๒ มิถุนายน สิ้นวันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๘” นะครับ แต่โรงเรียนใช้ข้อมูลที่ว่า “โรงเรียนวัดอรุณฯ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๘” มาโดยตลอดกว่า ๖๐ ปี ข้อมูลนี้อยู่ใน “ประวัติโรงเรียนทวีธาภิเศก” (รูปนี้ ผมนำมาลงซ้ำเพื่อเตือนความจำครับ) อ.วรสิทธิ อินทาปัจ เรียบเรียง “พิมพ์ขึ้นเนื่องในงานทำบุญวันเกิดของโรงเรียนครบรอบ ๕๕ ปี วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐” (วันเสาร์) ที่ลงใน Post ที่ ๑๖ นะครับ ถ้าติดตามเรื่อง “เพลิงไหม้วัดอรุณฯ” จะเห็นได้เลยว่า ท่านคงจะสลับสับสนกัน ใน Post จากนี้ คงถึง “ความที่เกี่ยวเนื่อง” นั้นแล้วนะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659596997657251/

    ๕๓) ขอเริ่มด้วยกำเนิด โรงเรียนวัดอรุณฯ ก่อนครับ เดือนปีที่ผมอ้างใน Post ที่แล้วนั้น มาจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ แผ่นที่ ๓๖ วันอาทิตย เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีรกาสัปตศก ๑๒๔๗ (พ.ศ.๒๔๒๘) รูปที่ ๑-๗ ครับ ซึ่งต้องสอบสวนทวนความกลับไปกลับมาไม่น้อย สมาชิกอ่าน จะงงๆ ต้องตั้งสติกันดีๆ นะครับ คือ รูปที่ ๔-๖ เป็น “ตรางความรู้นักเรียน” รูปที่ ๗ เป็น “ตรางจำนวนนักเรียน” ทั้งหมดนี้แนบท้าย “ริโปดกราบบังคมทูลพระกรุณา” ของ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (ต่อมาคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ) กราบบังคมทูลฯ พระพุทธเจ้าหลวง รูปที่ ๑-๓ ครับ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ใน “ตรางความรู้นักเรียน” ปรากฏชื่อ “โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม” ตรง “ที่เลข ๑๒” รูปที่ ๖ ครับ ซึ่งมีข้อมูลว่า “เดือน ๗ ไม่มีนักเรียน เดือน ๘ บุรพาสาธ (แปดแรก) มีชั้นมูลบทบรรพกิจ ๓๔ คน เดือน ๘ อุตราสาธ (แปดหลัง) มีชั้นเดียวกัน ๔๕ คน” ตรงกับ “ตรางจำนวนนักเรียน” รูปที่ ๗ ซึ่งมีข้อมูลเพิ่มว่า “มีอาจาริย์ ๑ คน” ด้วยครับ ผมจึงต้องกลับไปดู “ริโปดกราบบังคมทูลพระกรุณา” อีกครั้ง ปรากฏความในรูปที่ ๒ ตอนท้ายๆ นะครับว่า “ในเดือนแปด บุรพาสาธ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระอารามแขวงกรุงเทพ ฯ แห่ง ๑” ทำให้ต้องกลับมาสอบ “ตรางความรู้นักเรียน” ทั้งหมด ๓ แผ่นอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเพียงโรงเรียนเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีนักเรียนในเดือน ๘ บุรพาสาธ จริง ทั้งหมดนั้น นำมาสู่ข้อสรุป เดือนปีกำเนิดโรงเรียนวัดอรุณฯ ดังใน Post ที่แล้วครับ แต่เดือนจันทรคตินั้น คร่อมทางสุริยคติอยู่ ๒ เดือน คือเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม จึงยากจะสรุปว่าเป็นเดือนใดในปัจจุบันแน่ แล้วก็น่าเสียดายที่ว่าไม่มีข้อมูลวันด้วยครับ ถ้ามีก็อาจระบุได้แน่กว่านี้ แต่เพียงเท่านี้ ผมว่า “กระจ่าง” แล้วนะครับว่า ปีกำเนิดโรงเรียนวัดอรุณฯ ไม่ใช่ พ.ศ.๒๔๓๘ แต่เป็น พ.ศ.๒๔๒๘ ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659601780990106/

    ๕๔) เอกสารทั้งหมดใน Post นี้คือหนังสือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลฯ พระพุทธเจ้าหลวงครับ เป็นข้อมูลโรงเรียนทั้งประเทศ ที่เริ่มตั้งมาได้เป็นปีที่ ๒ พ.ศ.๒๔๒๙ ของ กรมศึกษาธิการ ครับ ดังนั้น ผมจึงถือว่าโรงเรียนวัดอรุณฯ เป็นโรงเรียนหนังสือไทยแผนใหม่ รุ่นที่ ๒ ของประเทศ รองจากรุ่นที่ ๑ ซึ่งเราทราบกันดีว่าคือกลุ่มเดียวกับ โรงเรียนมหรรณพาราม เพียงปีเดียว พ.ศ.๒๔๒๗ หรือก่อนหน้านั้นนะครับ รูปที่ ๑-๓ เป็นหนังสือนำ รูปที่ ๔-๕ คือ “ตรางจำนวนโรงเรียนแลนักเรียนปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘” (พ.ศ.๒๔๒๙) “โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม” อยู่ใน “เลขที่ ๒๖” รูปที่ ๔ ตอนท้ายครับ ส่วนรูปที่ ๖-๑๒ เป็นรายงานฉบับแรกของโรงเรียน “อินสเปกเตอร์” ของพระเจ้าน้องยาเธอท่านไปตรวจ ว่ากันเป็นรายวันไปเลย แล้วมาสรุปรวม นับว่าถี่และละเอียดมาก ผมมีโอกาสอ่านรายงานฉบับให้หลังมา มีข้อมูลน้อยกว่านี้มากครับ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ในรายงานฉบับนี้ ทำให้เราทราบว่า โรงเรียนวัดอรุณฯ มีผู้อุปการท่านแรกคือ พระศรีสมโพธิ์ อาจาริย์ใหญ่ท่านแรกชื่อ นายศุขเปรียญ อาจาริย์รองชื่อ นายเพื่อน ซึ่งต่อมาจะเป็นอาจาริย์ใหญ่ท่านที่ ๒ ครับ ลองอ่านกันดูนะครับ ผมว่าสมาชิกจะได้ทราบข้อมูล โรงเรียนวัดอรุณฯ ขึ้นอีกมาก รายงานโรงเรียนเช่นนี้ ยังมีอีกต่อๆ ไปทุกปี จนมาตั้งเป็นโรงเรียนเรา ผมขอนำมาลงเพียงเท่านี้แล้วกันนะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659622417654709/

    ๕๕) คราวนี้เป็นเกียรติประวัติของ โรงเรียนวัดอรุณฯ นะครับ ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มนี้ (เล่ม ๕ แผ่นที่ ๔ วันอังคาร เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีชวด ยังเปนนพศก ๑๒๔๙ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๑) ปรากฏชื่อ “นายวาด นายวร” ได้รับพระราชทาน “รางวัลวิเศศ สำหรับนักเรียนที่ไล่ได้ตลอดวิชา ชั้นประโยคที่ ๑ โดยสามัญ ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในวัน ๕ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีชวด ยังเปนนพศก จ.ศ.๑๒๔๙ (วันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๑) เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ” นะครับ แต่ถ้าสมาชิกอ่านในรายงานโรงเรียน Post ที่แล้ว จะพบชื่อ “นายเผื่อน อายุ ๑๔ ปี บุตรนายเหลี่ยม” ก็สมควรได้รับพระราชทานและเป็นรางวัลที่ ๑ ด้วย (รูปที่ ๑๑ กลางๆ ครับ) ตรงนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนรางวัลนั้นก็ไม่เหมือนกัน ในรายงานว่า นายวาด รางวัลที่ ๔ นายวร รางวัลที่ ๕ แต่ใน ราชกิจจาฯ ว่าเป็น รางวัลวิเศศ ก็แปลกๆ อยู่นะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659631564320461/

    ๕๖) คง “กระจ่าง” เรื่อง โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม กันแล้วนะครับ Post นี้จะเข้าเรื่องสำคัญแล้วครับ คือการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งรวมถึงการสร้างโรงเรียนเราด้วยนั้นมี Drama กันมากครับ ภายหลังคงเพื่อความแน่นอน พระพุทธเจ้าหลวงท่านจึงมีพระราชกระแสระบุตัวว่า “การเรื่องนี้โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาเปนอธิบดี พระราชโยธาเทพ แลจมื่นจงภักดีองค์ขวา เป็นแม่กองจัดการปฏิสังขรณ์ต่อไป” เมื่อถึงความที่เกี่ยวข้อง ผมจะนำต้นฉบับมาลงนะครับ ตอนนี้ขอเรียนแต่เพียงว่า แม้ซ่อมแซมพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว แต่การปฏิสังขรณ์พระอาราม ก็ยังมีเรื่อยไปจนปลายรัชกาล เมื่อมาเขียน Post นี้ จำได้ว่าสัญญากับ นายมานพ ติดกระจกเงางาม ไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องขออนุญาตสมาชิกว่า “ไม่เกี่ยวกันเลยกับเรื่องสร้างโรงเรียน” แต่เมื่อพบเอกสารสำคัญชุดนี้โดยบังเอิญ เพราะอยู่ในแฟ้มเดียวกับที่ผมขอไป ผมซาบซึ้งในความคิดความอ่านของพระพุทธเจ้าหลวงท่านมากครับ ถึงกับขอ Scan เพิ่มมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ว่าอะไรนะครับ บอกเพียง “อาจารย์มีเงินก็สั่งมาเลยค่ะ ๗ หน้าๆ ละ ๔๐ บาท ๒๘๐ บาทพอดีค่ะ” ในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ก็ไม่มีช่องลง จึงขออนุญาตลงใน Post นี้ เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ท่านเสด็จแทนพระองค์มาทรงถวาย (บางคนอาจว่าผมใช้ผิด คำนี้ผมใช้เป็น สังฆศัพท์ ไม่ใช่ ราชาศัพท์ ครับ) ผ้าพระกฐินหลวง ที่ วัดอรุณฯ พอดี นายมานพ ไปรับเสด็จฯ อยู่ตรงจุดที่เราจะเขียนถึง ผมจึงสัญญาว่าจะเขียนให้ ดังนี้นะครับ วันนั้นท่านเสด็จรถ ไม่ได้เสด็จเรือ ไม่ใช่กระบวนนะครับ อันนั้นต้อง สถลมารค หรือ ชลมารค ซึ่งจะต้องเทียบที่ “ศาลาพระเสด็จ” ศาลานี้ ผมไม่ทราบว่า ยังเรียกกันหรือไม่นะครับ แต่ไม่ว่าทางใด โดยใด ก็ต้องเสด็จฯ ผ่าน “ซุ้มประตูมงกุฎ” หน้าพระอุโบสถ ที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ท่านว่า “งามไม่มีเสมอสอง” ซุ้มนี้หวิดจะถูกรื้อไปแล้วนะครับ แต่ว่าพระพุทธเจ้าหลวงท่านสกัดดาวรุ่งไว้ได้ ดาวรุ่งผู้นั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล พระราชโยธาเทพ (กอน หงสกุล) หรือต่อมาเป็น พระยาราชสงคราม แม่กองสร้างโรงเรียนเรานี่แหละครับ แต่เราจะไปโทษ เจ้าคุณครู ท่านไม่ได้นะครับ ต้องเข้าใจว่าสมัยนั้น ไม่มีความคิดอนุรักษ์โบราณสถาน ทวงคืนโบราณวัตถุ หรือ จัดการมรดกโลก อะไรอย่างปัจจุบัน ขอให้ลองอ่านในเอกสารที่ผมเรียงมานะครับ รูปแรก เจ้าคุณครู ท่านบอกกระทรวงฯ มาว่าต้องใช้เงินหมื่นหก เจ้าพระยาวิชิตวงศ์ฯ เสนาบดี ท่านก็ว่า มีเงินอยู่สี่ร้อย ขอให้นำความกราบบังคมทูล ดังรูปที่ ๒-๓ นะครับ จากนี้ผมไม่ขอนำมาเขียน อยากให้สมาชิกอ่านในรูปที่ ๔-๕ เอาเอง พระราชกระแสนั้น จับใจผมมากครับ เห็นได้เลยว่า พระราชดำริไม่เหมือนผู้คนในสมัยนั้น หากไม่ทรงทำเช่นนี้ สงสัยว่า “ซุ้มประตูมงกุฎ” คงจะหายจากประวัติศาสตร์ไปแล้ว ส่วนรูปที่ ๖-๗ นั้น คือ ร่างพระราชหัตถเลขา ที่ กรมราชเลขานุการ จะส่งพระราชกระแสไปยังกระทรวงฯ นะครับ เอาล่ะครับ ผมได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับ นายมานพ แล้ว รับรอง Post หน้า เข้าเรื่องสำคัญแน่นอนครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660007067616244/

    ๕๗) เมื่อราวตี ๔ กว่าๆ วันนี้ (วันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖) ผมเจอ “สนเท่ห์” อีกแล้วครับ ต้องขออนุญาตสมาชิก เขียนเรื่องนี้แทรกเรื่องโรงเรียนเราหน่อยครับ คือ พอตื่นมาผมก็คว้าโทรศัพท์ ซึ่งก็คงเป็นอาการของโรค Cyber Syndrome ที่พอมี FB ก็เลยเป็นกับเขาบ้าง ผม Check Face ตามปรกติ แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรเลย กดเข้าไป “ส่อง” พี่ Mana Vasa พบว่าท่าน Post ถามหารูป อ.หวั่น ชุลมุน ผมใจหายวาบ เพราะการ “ส่อง” นั้น ไม่เคยทำเลยนะครับ นี่เป็นครั้งแรก ไม่รู้อะไรดลมือ (ไม่ใช่ใจนะครับ) ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เข้าไป “ส่องความคิดเห็น” ซึ่งมีเกือบ ๓๐๐ เลยนะครับ พบว่าเรื่อง อ.หวั่น เกี่ยวกับ ไม้เรียว คมแฝก และ การลงโทษ ทั้งนั้น ท่านน่าจะเป็น “ตัวตึง” ในสมัยนั้น สงสัยไม่เขียน คงไม่ได้แล้ว ขอเรียนก่อนว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากอาจารย์ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ท่านหนึ่ง (ไม่ขอออกชื่อนะครับ) อาจารย์ท่านนี้สนิทกับ อ.หวั่น มาก คล้ายๆ กับว่า ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ท่านเล่าเรื่อง อ.หวั่น ให้ผมฟังหลายปีมาแล้ว ตอนนั้น ผมก็ไม่มีโอกาสไปเผยแพร่ที่ไหน นี่สงสัยว่า อ.หวั่น คงคิดถึง ทวีธาฯ ขึ้นมาหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงเป็นเช่นนี้นะครับ อีกอย่างหนึ่งตัวผมเองไม่ค่อยสัมผัสกับ ไม้เรียว ของท่านมาก ความทรงจำก็อาจเลือนลาง ถ้าพี่ๆ ท่านใดมีความเห็น รบกวนส่งกันเข้ามาได้เลยนะครับ ผมจำได้ว่าวันหนึ่ง อ.สำเนียง เดินเข้ามาบ่นตุบตับ “แก่ (อ.ประยูร ฟักภู่ สามีท่านครับ ท่านเรียกกันอย่างนี้) ตาหวั่น น่ะ เอาตู้ชั้นไป ๒ ใบ แล้วเทของชั้นทิ้งไว้กลางสนาม” เมื่อเร็วๆ นี้ ผมโทรศัพท์ไปถามท่านว่าจำได้ไหม ท่านว่าจำได้ แล้วยังเพิ่มเติมว่า “ครูเคยไปสอนวัดดุสิตนะ อ.หวั่น นั่นแหละตามไปสอน ตอนแกเป็น ผอ. ครูยังถามแกเลยว่า นี่คุณหวั่น คุณเอาตู้ชั้นไป ๒ ใบจำได้หรือเปล่า แกว่าจำได้ ขอผมเอาไปใช้ที่ใหม่เถอะ คุณไปหาเอาใหม่ เครื่องดนตรีที่นั่น ครูก็เป็นคนซื้อ วงดนตรีครูก็เป็นคนตั้ง” มิน่าเล่า แต่ก่อนเวลาท่านจะ “แว่บ” ไปสอน ท่านมักพูดว่า “ประกิต เดี๋ยวครูไปสอนวัดดุสิตนะ ถ้าใครมาหา มาตาม เธอบอกเขาไปว่า ครูเข้าห้องน้ำนะ” ซึ่งพวกเราชอบมากเวลาท่านบอก เพราะจะแอบเอาวิทยุเทปที่ท่านหวงมาก ออกมาเล่นดนตรีบันทึกไว้ฟังกันเล่นๆ ครับ ตรงนี้ ผมว่าเมื่อ อ.หวั่น ย้ายไปแล้ว ท่านอาจกลับมาสอนพิเศษ หรือมาตามครูเราไปช่วยสอนที่นั่นก็อาจเป็นได้นะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660627884220829/

    ๕๘) อ.หวั่น ไปสร้างคุณูปการไว้ที่ วัดดุสิต มาก ผมขอเล่าไปเรื่อยๆ ตามที่อาจารย์ท่านนั้นเล่ามานะครับ ขอเสริมนิดว่า อาจารย์ท่านนั้นบอก “โรงเรียนวัดดุสิต ก็เปรียบเสมือนโรงเรียนน้องของทวีธาฯ” ผมก็เห็นจริงตามนะครับ เมื่อแรกไปถึง ท่านก็ไปจัดการสลัมที่เรียกกันว่า “บ้านเป็ด” ออกไปจากโรงเรียน สลัมนี้ต้มเป็ดที่เก็บซากมาจากเป็ดไล่ทุ่งน่ะครับ จึงมีกลิ่นรัญจวนไม่น้อย ท่านใช้วิธีไปเช่า พระสมเด็จวัดระฆัง แล้วเลี่ยมทอง แจกให้บ้านที่แสดงความจำนงว่าจะย้ายไปทีละหลังๆ จนหมด จากนั้น ท่านก็เริ่มสร้างตึก ซึ่งแฝงด้วยนามสกุลใหม่ของท่าน ตรงนี้ขอเรียนว่า เดิมท่าน ชุลมุน นะครับ พอไปอยู่ วัดดุสิต แล้ว ถึงเป็น จุลมุน การแฝงชื่อตึก เช่น ตึกจุลี ก็มาจาก  ครับ เดิมเพลงประจำโรงเรียนไม่มี ท่านก็ขวนขวายหาครูมาแต่งให้ทั้งเนื้อร้องทำนอง ซึ่งไม่ใช่คนอื่นเลย ครูธนิต ผลประเสริฐ และภรรยา ครูเยาวลักษณ์ โกมารกุล ณ นคร เจ้าของวงดนตรี ธนิตสรณ์ อันโด่งดังไม่แพ้ สุนทราภรณ์ ในอดีต ครูธนิต ผมเรียกท่านว่า ครูเรือง ท่านเป็นลูกศิษย์ของ ครูเฉลิม บัวทั่ง อาของ อ.สำเนียง ครับ ครูเรือง ท่านเป็นผู้เรียบเรียง (Arrange) เพลงมาร์ชทวีธา แต่ไม่ใช่ผู้แต่งนะครับ ผู้แต่งเนื้อคือ อ.จินตนา วรรณโกมล ทำนองเป็นใครไม่ทราบครับ แต่เพลงอื่นๆ ของโรงเรียนเรา ทั้ง ๒ สองท่านร่วมกันแต่งในสมัย ผอ.สำเริง เรื่องนี้ต้องเรียนเชิญ อ.จิรวัฒน์ โคตรสมบัติ มาอธิบายครับ คราวนี้ มีตึก แต่ไม่มีใครมาเรียน เพราะตอนนั้น วัดดุสิต ตกต่ำมาก นักเรียนมีอยู่ไม่ถึงร้อย ท่านเรียกประชุมครู มีความเห็นหนึ่งเสนอว่า ให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “ดุสิตารามวิทยาคม” ท่านไม่รับ ว่าเชย เปลี่ยนเครื่องแบบดีกว่า ตอนนั้น ป๋าเปรม เป็นนายก กำลังฮิต “ชุดพระราชทาน” ท่านก็ทำหนังสือไปขออนุญาตมาเป็นชุดประจำโรงเรียน ป๋า ท่านตอบตกลง อนุญาตทันที แล้ว อ.หวั่น ก็ส่งเด็กไปประกวดมารยาท ได้รางวัลที่ ๑ ของประเทศ ปีนั้น มีผู้มาสมัครเข้าเป็นนักเรียนมืดฟ้ามัวดิน ชุดนี้ ปัจจุบันนักเรียนยังใส่กันทุกวันศุกร์ครับ (ผมก็ใส่ ดูรูปที่ ๔ ครับ อาจารย์ท่านนั้นให้มาเป็นที่ระลึก ๓ ตัว) เครื่องแบบนักเรียนชายที่เข็มขัดเป็นสีน้ำตาล มีเพียง พี่ทวีธาฯ กับ น้องวัดดุสิต เท่านั้นนะครับ ท่านถึงโกรธนักโกรธหนาที่ทางกระทรวงหวังดี ย้ายท่านไปเป็น ผอ.ที่ ชิโนรส เพราะอยากให้ท่านเกษียณที่โรงเรียนใหญ่ ท่านเข้ากระทรวงไปต่อว่า อ.บรรจง ชูสกุลชาติ ปลัดกระทรวงว่า “ทำกับผมอย่างนี้ได้อย่างไร ผมสร้างดุสิตารามมากับมือ ผมก็อยากไปจากที่ๆ ผมสร้างมา” เรื่องของ อ.หวั่น ที่ผมทราบก็มีเท่านี้ครับ รูปที่นำมาลง หวังว่ารุ่นพี่ๆ คงจำได้นะครับ รูปแรก จากซ้าย อ.บุญเทียม อุตสาหพานิช อ.แถม จรัสไธสง อ.หวั่น ชุลมุน และ อ.วิเชียร พงษ์สมบูรณ์ ถ่ายในงานไหว้ครู แต่ไม่ทราบปีครับ ส่วนอีก ๒ รูป อ.หวั่น ยืนบัญชาการอะไรไม่ทราบ คาดว่าถ่ายเมื่อสร้าง ตึกพิทยลาภพฤฒิธาดา เสร็จใหม่ๆ รูปที่ ๒ ฉากหลังคือ ตึกพิทย์ฯ รูปที่ ๓ คือ เล้าไก่ ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660632287553722/

    ๕๙) มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมตั้งใจแต่แรกว่าจะไม่เขียน แต่เห็นรุ่นพี่หลายท่าน “กระแซะ” มา จึงตัดสินใจเขียน อาจจะสะเทือนใจใครไปบ้าง ก็ขอให้ถือว่าเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์นะครับ ก่อนอื่น ผมต้องกราบขอประทานโทษทุกท่านที่จำต้องอ้างถึงต่อไปใน Post นี้นะครับ หากไม่ระบุนาม ก็คงไม่ “กระจ่าง” แม้เรื่องที่เขียนนี้จะ “เลือนราง” ก็ตาม ท่านใดมีข้อมูล ส่งมาแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะครับ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ นั้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทุกวงการ โรงเรียนเราก็เช่นกันครับ ช่วงนั้น อ.เรวัต ชื่นสำราญ ซึ่งเป็น อาจารย์ใหญ่ ท่านสุดท้าย แล้วมาเป็น ผู้อำนวยการ ท่านแรก (รูปที่ ๒ ครับ) ถึงกับต้องขอลาออกจากราชการด้วยเหตุนี้เลย เพราะยุคนั้น “เสรีภาพเบ่งบาน” อ.สันต์ วิศาลสิงห์ ท่านเขียนไว้ว่า ในโรงเรียนมีการตั้ง สภาครู สภานักเรียน อะไรกันมากมาย ซึ่ง อ.ธีรรัช วงศานาถ (อุทัย เคนท้าว) เพิ่มเติมไว้ชัดเจนว่า “เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขาดผู้ประสานความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้ผู้อำนวยการเรวัต ชื่นสำราญ ยื่นใบลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ” อ.สันต์ จึงมาเป็น รักษาการผู้อำนวยการ อยู่ราว ๓ เดือน ผมคิดว่าที่ อ.หวั่น และอาจารย์ฝ่ายปกครองหลายท่านดุมาก ก็คงเป็นด้วยว่า ต้องคุมนักเรียนให้อยู่มือ หากมีเรื่องราวเกิดขึ้น ต้องระงับเหตุให้ได้ รุ่นพี่หลายท่านเล่าว่า อาจารย์บางท่านต้องพกอาวุธประจำตัวไว้ด้วย เช่น อ.แถม (ซึ่งผมทราบมาว่าท่านชอบปืน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าที่ท่านต้องพกปืนจะเป็นด้วยเหตุนั้นนะครับ) แต่อย่างไรก็ดี สรุปว่า โรงเรียนทวีธาภิเศก จะเกิดความวุ่นวายไม่ได้ กระทรวงต้องส่งคนดีมีฝีมือมาเป็นผู้อำนวยการ ท่านนั้นต้องประสาน สร้างความประนีประนอมให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะครูกับนักเรียนให้ได้ ที่สุดก็ส่ง อ.สำเริง นิลประดิษฐ์ มา แล้วก็ต้องมาอย่างมีเกียรติสูงสุด คือ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา (รูปที่ ๑ ซึ่งเคยลงมาแล้วนะครับ ผมนำมาลงซ้ำ เพื่อเตือนความจำครับ) อ.สำเริง เขียนไว้ชัดเจนเลยครับว่า “ปี ๒๕๑๖-๒๕๑๗ มีเหตุการณ์สับสนวุ่นวายทางการเมือง ตลอดรวมทั้งวงการศึกษา ลุกลามเข้าโรงเรียนทวีธาภิเศกด้วย กรมวิสามัญศึกษาขณะนั้น จึงย้ายข้าพเจ้าจากอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการชั้นพิเศษ (โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม) โรงเรียนทวีธาภิเศก” ซึ่งมาเพื่ออะไร ก็เพื่อระงับเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้น มิให้บานปลายออกไป อย่าลืมนะครับว่า เหตุการณ์มหาวิปโยคในครั้งนั้น ยุติลงด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ การได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ ถือเป็นเกียรติยศสูงสุด ตั้งแต่ตั้งโรงเรียนมาจนปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยมีใครได้รับเช่นนี้นะครับ แล้วก็เป็นโชคดีของโรงเรียนเราจริงๆ ที่ได้ท่านมา เพราะไม่ว่าผมถามใครต่อใคร ท่านเหล่านั้นจะตอบผมว่า ยุค อ.สำเริง เป็นยุคที่โรงเรียนเจริญก้าวหน้าอย่างที่สุดจริงๆ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660761410874143/

    ๖๐) Post นี้ ยาวมาก แต่อยากให้ทุกท่านอ่านกันไปจนจบนะครับ ก่อนจะกลับเข้าไปประวัติโรงเรียน ผมเจอ “สนเท่ห์” เข้าอีกแล้ว ในวันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖ พี่ Wachara Srichamara ได้แสดงความคิดเห็นตอบ Post ที่ ๕๙ ของผม ท่านอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ได้ ขอนำมาลงพร้อมคำตอบของผมโดยไม่ตัดเลย แต่ขอเน้นข้อความหน่อย ดังนี้ครับ Wachara Srichamara “ข้อความที่น้องกล่าว เป็นเรื่องที่พี่เคยได้มีโอกาศพูดคุยกับ อ.สัญญา แต่ตอนนั้นท่านเป็นองคมนตรี เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้ง อ.สำเริง มาเป็น ผอ.ทวีธา เพราะท่านถามที่พี่ว่าจบมาจากไหน พอท่านรู้ว่าตอนมัธยมต้น เรียนที่ทวีธา ท่านเลยถามต่อว่า ตอนเรียนทวีธา ใครเป็นผู้อำนวยการ อ.สำเริง หรือเปล่า อ.สัญญา ท่านบอกว่า “ท่านเป็นผู้กราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่แล้ว ถึงความเหมาะสมของ อ.สำเริง ต่อการมาทำหน้าที่ผู้ปกครอง ร.ร.ทวีธาเรา ในฐานะท่านเป็นศิษย์เก่า” เรียกว่าท่านชงผู้มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ ซึ่งก็คือ อ.สำเริง ทั้งที่ อ.สัญญา บอกว่าไม่ได้รู้จัก อ.สำเริง เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด แต่พี่ก็ไม่ได้ถาม อ.สัญญา ว่าท่านมีเกณฑ์การพิจารณาในครั้งนั้นอย่างใด เรียกว่า ตอนนั้นปากหนักไปหน่อย” ประกิต สะเพียรชัย “เรียนพี่ Wachara Srichamara นี่เป็นข้อมูลที่สำคัญมากเลยนะครับ ไม่ทราบว่าพี่จะรังเกียจไหมครับ หากผมจะขออนุญาตนำไปลงใน “ทวีธาวัดนาคกลาง” เพราะข้อมูลนี้ เดิมผมสันนิษฐานเอาเอง เพราะผมเชื่อว่า ต้องมีความเกี่ยวพันกับสถาบันอย่างแน่นอน แล้วนี่ก็เป็นจริงตามที่ผมสันนิษฐานแล้ว ข้อมูลนี้น่าจะได้รับการเผยแพร่ เพราะเป็นเกียรติประวัติของโรงเรียน ตัวอาจารย์สำเริง และสำคัญที่สุด พระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่แล้วนะครับ ผมพิมพ์ตอบพี่แทบจะไม่ได้เลย ขนลุกซู่ไปหมด ซาบซึ้งจริงๆครับ ขอบพระคุณมากครับ สวัสดีครับ” Wachara Srichamara “ได้เลยครับด้วยความยินดี แต่วันที่ที่พี่ได้สนทนากับ อ.สัญญา พี่จำวันที่ไม่ได้แน่นอนนะครับ เพราะที่จดบันทึกไว้ก็หายระหว่างการขนย้ายที่พัก แต่เป็นช่วงหลังปี ๒๕๓๕ ลงมาแน่นอนครับ” ดังปรากฏในคำตอบที่ผมส่งไปนะครับ ว่าเป็นเรื่องที่คาใจผมนามานมาก ที่สุด พี่ Wachara Srichamara ก็มาเป็น “สนเท่ห์” ของผมจนได้ แล้วน่าจะเป็น “พระบารมี” ล่าสุดที่ผมได้รับด้วย อีกประการหนึ่ง ความตอนจบของ Post ที่แล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนที่ทันท่าน ต้องยอมรับเช่นนั้นจริงๆ แล้วนักเรียนสมัยนั้น ซึ่งเป็น “ยุคเสรีภาพเบ่งบาน” บางครั้งก็ “เบ่ง” และ “บาน” กันจนเกินไป ผมมีตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งขอความกรุณาว่าจะไม่เอ่ยนามทุกท่าน เว้น อ.สำเริง นะครับ เพราะเรื่องมันก็นมนานกาเลมาแล้ว ที่ผม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ขึ้นมา ก็เกินหน้าที่ไปไม่น้อย แต่ผมอยากจะแสดงกตเวทิตาคุณท่าน ในฐานะ ลูกทวีธาฯ คนหนึ่ง และในขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ด้วย ดีกว่าจะไปสรรเสริญตอนที่ท่านไม่รับรู้อะไรแล้ว ถ้าผมมีโอกาสพบท่าน ผมอยากจะเชิญสำเนา “พระบรมราชโองการ” ฉบับนี้ ไปให้ท่านดู ท่านจะมี ไม่มี ผมไม่ทราบ แต่ผมซาบซึ้งใจมากครับ ขอเล่าเรื่องนั้นก่อน ดังนี้นะครับ อ.๑ มาบรรจุใหม่ในยุคนั้น แล้วก็เจอเดช เด็กทวีธาฯ ทันที คือ ในการสอบคราวหนึ่ง อ.๑ ต้องคุมสอบ ต้องแจกข้อสอบ ฯลฯ ซึ่งท่านต้องใช้สมาธิไม่น้อยนะครับ หากผิดพลาดไป ท่านต้องรับผิดชอบเต็มๆ นาย ๑ ก็หัวเราะอยู่นั่น แล้วไม่เบาด้วย ท่านก็ขอให้หยุด แล้วก็อบรมด้วย นาย ๑ ก็ไม่หยุด ทั้งยังท้าทายท่านด้วยการยืนชี้หน้า แล้วว่า “นี่ถ้ากูไม่เห็นว่ามึงเป็นครูบาอาจารย์นะ กูจะออกไปตบแล้ว” ตรงนี้ ตอนที่ผมได้ยิน อ.๑ เล่าให้ฟัง ผมแทบลมจับ มันมีจริงหรือนี่ นิยายยังไม่กล้าเขียนอย่างนี้เลยนะครับ แต่ท่านเล่าว่า วันนั้นก็จบเรื่องราวไปด้วยเพื่อนๆ ห้าม แล้วท่านก็อยากให้สอบให้เสร็จ ที่ไหนได้ ไม่จบแค่นั้น นาย ๑ เป็นน้องชายแท้ๆ ของ อ.๒ ให้หลังไม่กี่วัน อ.๑ เดินไปซื้อกาแฟหน้าโรงเรียน อ.๒ เรียกทัวร์มาลงทันที เชิญ อ.๑ เข้ามาด่าในห้องพักครู ซึ่งทุกท่านก็มอง อ.๑ เป็นตาเดียว ตรงนี้ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวนะครับว่า ไม่ยุติธรรมกับ อ.๑ เลย อ.๒ เข้าข้างน้องตนเอง โดยไม่ดูผิดถูก อ.๑ อายมาก ร้องไห้โฮ น้ำตาไหลพราก เดินออกจากห้อง ขึ้นไปที่หมวด หัวหน้าหมวดตกใจ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น อ.๑ ก็เล่าไป สะอื้นไป หัวหน้าหมวดท่านก็แสนดี อุตส่าห์บอกว่า “เอาล่ะ วันนี้หนูกลับบ้านไปก่อนได้ พี่อนุญาต” แต่ไม่จบแค่นั้นครับ รุ่งขึ้น เรื่องไปถึง อ.สำเริง ได้อย่างไรไม่ทราบ ที่สุดท่านตัดสินว่า ต้องให้ นาย ๑ เอาพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอสมาลาโทษ อ.๑ ที่หน้าเสาธง แล้วเฆี่ยนต่อหน้านักเรียนทั้งโรงเรียนพรุ่งนี้ กรณีเดียว ไม่มีต่อรอง แล้วอย่างไรทราบไหมครับ มี อ.๓ มาเกี่ยวข้อง ท่านสนิทกับ อ.๒ มาก มาขอร้อง อ.๑ ว่าอย่าให้ถึงขั้นนั้นได้ไหม เห็นแก่เด็กเถิด อ.๑ ก็ว่า “อาจารย์ต้องไปเรียน ผอ. ค่ะ เพราะหนูไม่ได้เป็นคนตัดสิน หนูทำตามคำสั่งค่ะ” อ.๓ ก็คนจริงเหมือนกัน ไปหา อ.สำเริง ท่านก็เรียก อ.๑ ไปถามว่า “คุณจะเอายังไง แล้วแต่คุณ” อ.๑ ก็ไม่อยากให้มันใหญ่โตไป แล้วท่านก็เพิ่งมาบรรจุ ก็เลยมาขอขมากันที่ฝ่ายปกครอง เรื่องก็จบ เป็นอย่างไรบ้างครับ ฟังแล้วน่าอ่อนใจไหมครับ คำว่า “ยิ่งกว่านิยาย” ผมก็เพิ่งทราบว่ามีจริง ตอนที่ท่านเล่าให้ฟังนี่แหละครับ แต่เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึง “ยุติธรรมและคุณธรรมประจำใจ” นั้น มีในดวงจิตของ อ.สำเริง อย่างเต็มเปี่ยม ท่านไม่เกรงอาวุโส ไม่เกรงความสนิท ดูที่เหตุและผลอย่างเดียว แม้ท่านอยู่ที่โรงเรียนเราไม่กี่ปี แต่ความเจริญที่ท่านทำให้ ผมขอนำคำ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (สำเภา ติสาโร) เจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ (ท่านมรณภาพไปแล้วครับ) พระอุปัชฌาย์ผม ที่เคยสอนไว้มาเปรียบนะครับ คือตอนนั้นคุณพ่อผมเสีย อีกปีหนึ่ง ผมถึงบวชให้ท่านได้ เพราะไม่มีเวลา แล้วไอ้คำนี้แหละ ทำให้ผมเรียนท่านไปว่า “ผมบวชได้ ๒๐ กว่าวันเองนะครับ เสียดาย อยากอยู่มากกว่านั้น” ท่านว่า “หลวงพี่ คนเราน่ะนะ อยู่ในโลก ๑ วัน แต่ทำความดี ย่อมเป็นกุศล มากกว่าคนอยู่ในโลก ๑๐๐ ปี ไม่เคยทำความดีสักครั้ง” สุดท้ายนี้ ผมขอจบด้วยรูปชุดที่ อ.สำเริง จะจาก ทวีธาฯ ไปอยู่ สวนกุหลาบ นะครับ อ.๑ และอีกหลายท่านเล่าให้ผมฟังว่า อาจารย์เราแทบจะ “ทั้งโรงเรียน” ไปส่งท่าน ท่านเป็นดังที่พระอาจารย์ เจ้าคุณอุปัชฌาย์ผมว่าไว้จริงๆ ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3661792260771058/

  • เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.5

    เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.5

    ๔๑) พระราชพิธีสมภาคาภิเศก ครั้งที่ ๒ คือ รัชกาลที่ ๔ “วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีรกา สัปตศก ๑๒๔๗” (วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๙) ครั้งที่ ๓ คือ รัชกาลที่ ๓ “วันที่ ๑๒ มิถุนายน ร.ศ.๑๑๔” (วันพุธ พ.ศ.๒๔๓๘) และครั้งที่ ๔ คือ รัชกาลที่ ๑ “วันที่ ๓ มีนาคม ร.ศ.๑๑๔” (วันอังคาร พ.ศ.๒๔๓๘) ปลายปีเดียวกันนั้นครับ ในพิธีนี้ทรงสร้างเหรียญห้อยสายนาฬิกา พระราชทานเป็นที่ระลึกทุกครั้ง ดังรูปที่ผมนำมาลงนะครับ ลองขยายดู ทุกเหรียญบอกข้อมูลไว้ครับ เรื่องรูปนี้ ผมต้องขอเรียนว่า ทั้งใน Post นี้ และ Post หน้า Copy มาจาก Internet ของเหล่า “เซียนพระ” ซึ่งตามจริงน่าจะขออนุญาตเขาก่อน แต่คิดว่าเป็นการศึกษา แล้วผมก็ลงอ้างอิงให้ทุกรูปในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ ส่วนใน Page นี้ ก็เท่าที่ทำได้ หากมาเห็น คงไม่ว่ากันนะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657383781211906/

    ๔๒) เรื่องต่อไป ทรงครองราชย์เป็น สองเท่า ของรัชกาลก่อน เรียกว่า พระราชพิธีทวีธาภิเศก มี ๒ ครั้งครับ คือ รัชกาลที่ ๒ (ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเรา) “วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗” (วันอังคาร พ.ศ.๒๔๔๑) และ รัชกาลที่ ๔ “วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๒” (วันเสาร์ พ.ศ.๒๔๔๖) ซึ่งก็ทรงสร้างเหรียญที่ระลึกเหมือนกัน ดังรูปที่นำมาลง พระราชพิธีทั้ง ๖ ครั้งนั้น เห็นได้ชัดนะครับว่าเกี่ยวข้องกัน ถ้าจะถามว่า ทำไมมีพิธีเช่นนี้ ก็ต้องตอบว่าเป็น ธรรมเนียม มาจนกลายเป็น ราชประเพณี ครับ คล้ายกับว่า ท่านจะก้าวข้ามรัชกาลก่อน ก็ต้องบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศไปถวาย ผมเคยเห็นคนเราธรรมดา ถ้าเขามีอายุมาถึงปู่ย่าตายายเขา เขาก็ทำบุญไปให้เหมือนกัน ก็เปรียบง่ายๆ ดังนี้นะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657385871211697/

    ๔๓) ใน พระราชพิธีทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ ผมคิดว่า กรมหมื่นสมมตฯ ท่านทรงคำนวนวันถวาย เพราะมี “ใบคำนวน” เหมือนกัน ดังรูปนะครับ ที่ คิดว่า ก็เพราะท่านไม่ได้ลงพระนามไว้เหมือนกรมหมื่นเทวะวงษ์ฯ แต่เทียบจากลายพระหัตถ์ในหลักฐานที่เกี่ยวข้องอีกหลายชิ้น น่าจะใช่ครับ แล้วท่านก็เก็บไว้กับใบคำนวนของ กรมหมื่นเทวะวงษ์ฯ ในรูปตอนบนเห็นชัดเลยครับว่า ท่านเขียน “ควรเก็บติดกันไว้” แล้วก็ดังที่เห็นนะครับ ทรงคำนวนละเอียดจริงๆ มาตกวันนี้แน่นอน ผมถึงงงว่า มรสุมลูกที่ ๑ กล้าดีอย่างไร จึงมาชี้นำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขว ดังที่เขียนไว้ใน Post ที่ ๒๖ นั้นครับ ที่ตอนท้ายเป็นลายมือ เขียนไปคนละทางนั้นเป็นลายพระราชหัตถ์พระพุทธเจ้าหลวงนะครับ ทรงเขียนนามช้างสำคัญไว้ ผมก็สันนิษฐานอีกแหละว่า คงทรงกำหนดให้เชิญมา “ยืนโรง” ในพระราชพิธี ตามธรรมเนียม กรมหมื่นสมมตฯ ท่านคงเห็นเกี่ยวข้องกัน ก็เลยใช้กระดาษแผ่นนี้คำนวนครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657389114544706/

    ๔๔) เอกสารชุดนี้เป็นลายพระหัตถ์ กรมหมื่นสมมตฯ ทั้งหมดนะครับ ส่งไปถวาย พระวรวงษเธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ ซึ่งรับผิดชอบการช่างต่างๆ ในเวลานั้น รูปแรกเป็นกำหนดการคร่าวๆ ๔ รูปต่อไปเป็นข้อความที่จะปักหรือพิมพ์ลงบน “ผ้ากราบ” ถวายพระ ที่สำคัญคือฉบับตัวพิมพ์รูปที่ ๕ ครับ มีลายพระราชหัตถ์พระพุทธเจ้าหลวงเรื่องเหรียญ ทรงไว้ที่มุมขวาล่าง ลองอ่านดูกันนะครับ ส่วน ๓ รูปสุดท้ายเป็นลายที่จะปักหรือพิมพ์ แล้วลงข้อความที่ร่างไว้ (รูปที่ ๑-๓) ขอให้สังเกตรูปสุดท้ายนะครับ มีตราคล้าย เหรียญทวีธาภิเศกรัชกาลที่ ๒ ซึ่งถ้ากลับไปสังเกตรูปใน Post ที่แล้ว กรมหมื่นสมมตฯ ท่านก็ร่างลายเส้นเหรียญไว้เหมือนกัน แต่เป็น สัณฐาน มีหลายทรงนะครับ ร่างนี้ ต้องเกิดก่อนลายและเหรียญที่ต้องส่งไปทำแน่นอน ผมจึงสันนิษฐานในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ว่า กรมหมื่นปราบฯ ทรงร่างถวายครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657392187877732/

    ๔๕) ในพิธีทั้งหมดนั้น ก็จะมี “ทำบุญ” (บำเพ็ญพระราชกุศล) มี “นิมนต์พระมาเทศน์” (ถวายพระธรรมเทศนา) แล้วก็มี “ติดกัณฑ์เทศน์” (ทำกระจาดบูชากัณฑ์เทศน์) อย่างเราๆ นะครับ ใน ภาคาฯ ร.๒ ทรงขอแรง (เกณฑ์) ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ให้มาช่วยกันทำ “กระจาด” ตั้งหน้า พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปจนถึง ประตูพิมานไชยศรี เลยนะครับ ซึ่งก็คงจะอลังการเว่อร์วัง ประชันขันแข่งกันมาก เขาว่า “กระจาดซึ่งตั้งในโรงต่างๆ นั้น เมื่อยังไม่ถึงเวลานั้น เอาม่านปิดทุกโรง เวลาย่ำเที่ยงก็เปิดพร้อมกันหมด ดูงามนักหนา มีคนเข้ามาชมเชยแน่นหนา ไม่มีเวลาว่างเลย … คนดูกระจาดวันนี้มากไม่มีว่าง ดูเบียดกันไปเสมอ” แสดงว่าโปรดฯ ให้ ชาวบ้านร้านช่อง เข้ามาดูด้วย พอถึง ภาคาฯ ร.๔ ครั้งถัดมา ท่านเลยต้อง “สกัดดาวรุ่งกระจาด” พวกนี้ลงบ้าง ลองอ่านความในรูปที่ ๑ นะครับ ผมอ่านแล้วก็ขำๆ ดี แล้วผมมีรูป “กระจาด” ที่ตั้งหน้า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในงาน ร.๔ นั้นให้ดู ๒ ใบ มี Drama นิดนะครับ ผู้อ่านรูปคือพี่ เอนก นาวิกมูล (ถ้าพี่มาเห็น น้องน้อยกราบขออภัยด้วยนะครับ) ท่านอ่านคลาดเคลื่อนไปหน่อยว่าเป็นงาน ภาคาฯ ร.๑ ซึ่งผมค้นมาได้ว่าในงานนั้นไม่มี (ดูใน Post ที่ ๔๖ ต่อจากนี้นะครับ) แล้วสังเกตจากด้านหลังเป็น “ชั้นต่ำ” (ภาษาชาววังครับ ชาวบ้านเรียก ล่องถุน หรือ ใต้ถุน แต่ไม่ใช่ ชั้นล่าง หรือ ชั้น ๑ นะครับ) พระที่นั่งจักรีฯ แน่นอน ลักษณะ “กระจาด” ก็คล้ายที่ท่าน “สกัดดาวรุ่ง” ไว้ครับ ตรงนี้ ผมขอเรียนสมาชิกว่า การค้นคว้า ไม่ว่าเรื่องใด เราต้อง “กำหนดขอบเขต” หรือ “ตีวง” ให้ได้ ถ้ายิ่งแคบเท่าไร งานเราก็จะออกมาดีเท่านั้น เรื่อง พระราชทานกำเนิดโรงเรียนทวีธาภิเศก ของผม ก็เป็นเช่นนั้นครับ กำหนดแค่สร้างตึกโรงเรียนสำเร็จ จบ ก็แย่แล้ว เพราะอย่าลืมว่า โรงเรียนเรา อายุเป็นร้อยปีนะครับ ต้องมีเรื่องราวสารพันเกิดในแต่ละช่วงเวลาไม่น้อย ระหว่างค้นคว้า ผมพบเอกสารรัชกาลที่ ๖-๘ เรื่องโรงเรียนเราอีกเพียบครับ ยังไม่กล้าเขียนเลย เพราะคงเป็นงานใหญ่แน่ๆ การเขียนร่ายยาวเป็นพงศาวดารลงมาจนปัจจุบัน (อย่างมรสุมลูกที่ ๑ ทำ) ผมไม่ทำแน่นอน ไม่เถียงว่าทำได้ แต่อาจคลาดเคลื่อนอย่าง พี่เอนก แล้วก็ไม่ครอบคลุมถ้วนทุกประเด็นด้วยครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657669691183315/

    ๔๖) แต่พอถึง ภาคาฯ ร.๓ ครั้งถัดมาอีก พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงเลิกเลย ลองอ่านในรูป ๑-๓ นะครับ เพราะคงทรงทน “ความอลังการเว่อร์วัง” ไม่ได้ จึงทรงเปลี่ยนไปถวายเงินปฏิสังขรณ์ พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม ๒๘๐ ชั่ง ดีกว่า งานนี้ พระเจ้าราชวรวงษเธอ พระองค์เจ้าบุตรี ถวายเงินช่วย ๕ ชั่ง เหตุที่ท่านถวาย ผมเดานะครับ เพราะเวลานั้น ท่านเป็นผู้มีบุญวาสนาอยู่ที่ “ฝ่ายใน” ทั้งท่านก็เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ประสูติแต่ ท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาอึ่ง ในรัชกาลที่ ๓ บุตรี เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) กับ ท่านผู้หญิงลิ้ม ตรงนี้ ผมขอให้จำดีๆ เพราะจะมีความเกี่ยวข้องต่อไปครับ) ซึ่งกำกับการฝ่ายใน ท้าวนาง ข้าหลวงในรัชกาลที่ ๕ มาอยู่แล้ว ตัวท่านก็เลยรับช่วงแม่ท่านมา อะไรๆ ท่านคุมหมด อย่างกุญแจฝ่ายในนี่ ท่านถืออยู่องค์เดียวนะครับ เรียกว่า ยิ่งใหญ่กว่า พระองค์เจ้านิเวศน์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ที่อายุมากที่สุด (กุลเชษฐ) ในเวลานั้นเลย แต่ เสด็จพระองค์นิเวศน์ ท่านก็แก่มาก แถมยังป่วยออดๆ แอดๆ อีก ท่านก็คงไม่มีแก่ใจมายุ่งตรงนี้หรอกครับ ผลแห่งความยิ่งใหญ่ของ พระองค์เจ้าบุตรี ปีต่อมา พระพุทธเจ้าหลวงก็แต่งตั้งท่านเป็น กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าใอยิกาเธอ ในรัชกาลที่ ๕ เลยนะครับ แล้วพอถึง ภาคาฯ ร.๑ ปลายปีนั้น พระพุทธเจ้าหลวงท่านก็ถวายเพิ่มอีกเท่ากัน เพื่อปฏิสังขรณ์พระอารามเดียวกัน (รูป ๔-๖ ครับ) ไม่มีแล้วครับ “กระจาด” กระเจิงไปเลย คราวนี้ พระบรมวงษานุวงษฝ่ายใน ๒๕ พระองค์ ร่วมกัน “ถวายช่วย” ๒๑๔ ชั่ง เพื่อปฏิสังขรณ์ วัดราชบูรณะ อีกพระอารามหนึ่ง ซึ่งก็วิเคราะห์ไม่ยากอีกเช่นกันว่าทำไมจึงเป็น “ฝ่ายใน” คือท่านคงไม่อยากไปกวนใครอีกแล้ว ถ้าดูในราชกิจจาฯ ฉบับเต็มนะครับ จะเห็นความวุ่นวาย “มาก” คราวนี้ท่านคงอยากให้เป็น “การส่วนพระองค์” (คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่า ฝ่ายใน กับ ส่วนพระองค์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วผมขอให้จำคำนี้ไว้ให้ดี จะเขียนถึงอีกหลายครั้งครับ) ออกเงินเอง ทำอะไรเอง ประมาณนั้นนะครับ ซึ่งตรงนี้ผมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะในครั้งถัดมา มีสามัญชน ๒ นาง (ฝ่ายในครับ) ถวายเงินช่วยใน พระราชพิธีทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ แล้ว พระบรมวงษานุวงษฝ่ายใน ที่ผมอยากจะเรียกว่า “เกือบจะหมดพระราชฐาน” ร่วมกันถวายตาม โปรดเกล้าฯ ให้นำเงินนี้มาเป็นทุนสร้างโรงเรียนที่ผมกำลังกระทำปฏิการคุณอยู่ในขณะนี้ครับ ผมขอจบ Post ด้วยความเดียวกับงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์นะครับ “นับแต่นั้นตราบปัจจุบัน ลูกหลานไทยอันสุดประมาณจำนวน ต่างก็ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนนี้ ต่อเนื่องกันลงมามิได้ขาด ทั้งยังจะ “มั่นคงยั่งยืนอยู่นาน” สืบไปในอนาคต สมดั่งพระบรมราชปณิธานที่ทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัยว่า จะพระราชทานการศึกษาเล่าเรียน “ตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด” แล้วนั้นทุกประการ”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657671587849792/

    ๔๗) แต่แรกว่าจะพอการ Post ประจำวันก่อน พอดีเห็น นายมานพ ติดกระจกเงางาม Post เรื่องน้องที่ได้รับคัดเลือกไปแสดง “กุมภกรรณทดน้ำ” ขอเรียนว่า ปลื้มใจและดีใจอย่างที่สุด เลยขอนำรูป “โขนทวีธาฯ รุ่นคุณลุง” มาให้ดู เพื่อขอบคุณ นายมานพ นะครับ รูปชุดนี้มีบุคคลร่วมสมัยให้ข้อมูลว่า แสดงในวันพุธที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๒ (จริงแล้วใต้รูปเขียนไว้ครับ) งาน “ต้อนรับผู้บริหารโรงเรียนกลุ่ม Asian” รูปอาจจะไม่ค่อยเรียบร้อยนัก รีบนำมาลง ใครเป็นใครแสดงตัวได้เลยครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657678524515765/

    ๔๘) ชื่นชม “โขนทวีธาฯ รุ่นคุณลุง” กันจนสนั่น “ลูกทวีธา” แล้ว กลับมาเข้าเรื่องเดิมนะครับ เรื่องต่อไปคือ “เพลิงไหม้ใหญ่ที่วัดอรุณราชวราราม” ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ร.ศ.๑๑๔ (วันอังคาร พ.ศ.๒๔๓๘) เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ อันเป็นเรื่องที่โรงเรียนเราอ้างอิงกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่ผิดบ้างถูกบ้างนะครับ รายละเอียดของเหตุการณ์ อ่านได้ในราชกิจจาฯ ที่ผมนำมาลง (รูป ๑-๕ ครับ) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากผมเปรียบเหมือนเหตุการณ์เพลิงไหม้ Notre Dame de Paris มหาวิหารนอทร-ดาม (ไม่รู้เขียนถูกหรือเปล่า ทั้งฝรั่งเศส/ไทย) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้เลยครับ ผมสะเทือนใจมากนะครับที่เห็นพวกฝรั่ง ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เจริญแล้ว นั่งคุกเข่า ขอพรพระผู้เป็นเจ้า ให้มาช่วยดับไฟ ผมว่า คงเหมือนเพลิงไหม้วัดอรุณฯ ที่ว่านี่แหละครับ พระพุทธเจ้าหลวงท่านเสด็จฯ มาอำนวยการดับเพลิง แล้วโปรดให้เชิญ พระบรมอัฐิพระพุทธเลิศหล้าฯ ที่บรรจุไว้ตรง พระราชลัญจกรครุฑยุดนาค กลางผืนผ้าทิพย์ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ (รูปที่ ๖ ครับ ต้องดูดีๆ ครับ เพราะเล็กมาก) ออกไปก่อน รุ่งขึ้นท่านก็ให้ทำขวัญ พระถ่ายอย่างจาก พระพุทธนฤมิตร พระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระพุทธเลิศหล้าฯ ที่ประดิษฐานใน มณฑปยอดปรางค์ หน้าพระอุโบสถ (รูปที่ ๗ ครับ) เพราะท่านยืน “ผจญเพลิง” อยู่ตรงนั้น ย้ายไปไหนไม่ได้ น่าสงสารท่านครับ พระองค์นี้ ร้อยทั้งร้อยโฆษก TV เรียกผิดหมด จริงแล้วท่านเป็น “ของก๊อปเกรด A” ในสมัยนั้นนะครับ องค์จริงอยู่ในวัง ถ้าอยากอ่านให้ถูก ก็ต้องอย่างที่ผมเขียนมานะครับ สงสัยดูในรูปที่ ๘ ได้ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658878917729059/

    ๔๙) คราวนี้เรื่อง “เพลิงไหม้วัดอรุณฯ” จะมาเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเราแล้วครับ คือ พอดับเพลิง ทำขวัญ ตบรางวัล อะไรๆ เสร็จ พระพุทธเจ้าหลวงท่านก็โปรดให้บูรณะพระอุโบสถเป็นการใหญ่ เขาว่า “ทรงสลดพระราชหฤทัย มีพระราชประสงค์จะให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ไปปกครอง จึงโปรดให้แห่พระธรรมวโรดมจากวัดบพิตรภิมุขไปครองวัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ปีจอ พ.ศ.๒๔๔๑ เสด็จฯ ทรงถวายเครื่องบริขารในการขึ้นกุฎีด้วย” แล้วสลับให้ พระราชมุนี เจ้าอาวาสขณะนั้นไปครอง วัดบพิตรพิมุข จากนั้นอีก ๒ ปี เจ้าคุณราชฯ ท่านก็ถวายพระพรลาสิกขาครับ พอหลังเสร็จ พิธีทวีธาฯ ร.๒ ได้ ๓ วัน ท่านเสด็จฯ ไปดูการบูรณะในวันศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) ดัง “พระราชกิจรายวัน” รูป ๑ ว่าไว้นะครับ แล้วหนังสือพิมพ์ The Bangkok Times ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) เสนอข่าวเพิ่มเติม ดังรูป ๒-๓ ซึ่งลางเลือนมากครับ ผมคล้ายว่าเคยเห็นในพิพิธภัณฑ์โรงเรียน เขาว่า พี่ เอนก นาวิกมูล ให้มา รู้สึกจะชัดกว่านี้มาก ของผมนี่มาจาก หอจดหมายเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า สำเนา Microfilm มาจาก สยามสมาคม ขอให้อ่านที่ผมถอดมาดีกว่าครับ “เมื่อวันศุกรวารนี้ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวได้เสดจพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งคอนโดเลอหกแจว เสดจประพาศวัดอรุณราชวราราม ทรงทอดพระเนตรจนทั่ววัด แลได้ทอดพระเนตรกุฎีแถวร้าง อันชำรุดหักพังมาก จึ่งทรงรับสั่งกับ พระวรวงษเธอ กรมหมื่นปราบปรปักษว่า กุฎีแถวเหล่านี้ไม่มีประโยชนแล้ว ทิ้งไว้ก็สำหรับจะซุดโทรมไปเท่านั้น ควรแปลงให้เปนโรงเรียนสำหรับอารามนี้สักแห่งหนึ่ง แลทรงประพาศถึงการอื่น ๆ ในการที่จะบำรุงอารามนั้นอิกหลายพระองค์ พอได้เวลา ก็เสดจพระราชดำเนินกลับคืนพระบรมมหาราชวัง”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658901664393451/

    ๕๐) ข้อมูลตรงนี้นะครับ โรงเรียนนำเสนอมาโดยตลอดว่า พระราชดำริจะทรงตั้งโรงเรียนเกิดในวันนั้น ต้องขอเรียนแย้งด้วยความเคารพว่า ไม่ใช่ครับ เกิดก่อนหน้านั้นนานเลย ขอให้ติดตามผมต่อไปนะครับ ตรงนี้จะว่าด้วยเรื่อง “เพลิงไหม้วัดอรุณฯ” ให้จบไปก่อน “กุฎีแถวร้าง” ที่ว่าใน Post ที่แล้วนั้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ท่านบอกไว้ว่า “ทิมแถวนี้ ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระราชอุทิศสำหรับแกงสงฆ์ในพระอาราม” คำ “แกงสงฆ์” นี้ สันนิษฐานว่า อาจหมายถึงโรงครัวประกอบกับข้าว (แกง) ถวายพระก็ได้ เพราะตามวัตรปฏิบัติของภิกษุฝ่ายวิปัสสนา ของที่จะตกลงบาตรขณะบิณฑบาตได้ มีเพียงสิ่งเดียวคือ ก้อนข้าว (ไม่ใช่ปัจจัยนะครับ) ดังคำแปล ปิณฺฑปาต ว่า ก้อนข้าวที่ตก นั้น ด้วยเหตุนี้ แต่โบราณทายกทายิกาจึงนิยมตักบาตรเพียงข้าวขาวสุก (ข้าว Rice Berry อย่างปัจจุบันนี้ คงไม่ได้ครับ) แล้วนำกับข้าวมาถวายพระที่วัดหลังบิณฑบาต ผมเคยเห็นตามต่างจังหวัดหรือแม้ในกรุงบางวัดนะครับ ก็มีโรงครัว ฆราวาสทำแกงถวายพระอย่างนี้ครับ แล้วสมกับว่า ที่ตรงนี้ เดิมเป็น “หมู่กุฏิสงฆ์ เรียกว่าคณะกุฏิ อันเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระของวัด” พอไม่มีพระจำพรรษาแล้ว จึง “ให้ราษฎรเช่า หลังคามุงกระเบื้อง ๑๐ ห้อง ๑ หลัง ๖ ห้อง ๑ หลัง” หลังเพลิงไหม้ก็คง “ชำรุดทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์อยู่” บริเวณนี้คือ โรงเรียนประถมทวีธาฯ ในปัจจุบัน ขอให้ดูในรูปด้านล่างนะครับ ใบแรก แสดงที่ตั้งโรงเรียน ผมตัดมาจากใบที่ ๒ ซึ่งเป็นแผ่นเต็ม ขนาดใหญ่มาก แผนที่นี้ เก่าแก่ที่สุดที่พบครับ ขุนจารีรัฐเขตต์ (ไม่ทราบนามเดิม) นายเวรชั้น ๑ สำรวจเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๔ (วันพฤหัสบดี พ.ศ.๒๔๔๘ หลังสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ ๓ ปี) เข้ากรอบกระจก ติดไว้ที่ผนังหุ้มกลองพระอุโบสถด้านใน ตรงข้ามพระประธานครับ ท่านใดสนใจไปดูได้ พระท่านเปิดโบสถ์ทุกวัน แต่รูปที่ผมถ่ายมานี้ ผ่านกระจก ก็ต้องมีสะท้อนเป็นธรรมดาครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658913964392221/

  • เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.4

    เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.4

    ๓๑) เรื่อง สีประจำโรงเรียน ผมขอนำข้อเขียนของ พล.ร.ท.วิเชียร สังกรธนกิจ (รูปด้านล่าง ท่านสกุลเดิม เกษมุกดา แล้วเปลี่ยนมาใช้ราชทินนามคุณพ่อท่านครับ ที่ผมหามา ท่านเข้าเรียนชั้น ม.๑ พ.ศ.๒๔๗๓ สำเร็จชั้น ม.๖ พ.ศ.๒๔๗๙ ปีการศึกษา ๒๕๗๘ แต่ในนี้ ท่านว่าเรียนตั้งแต่ ป.๑ ก็ต้องนับย้อนลงไปอีก ๔ ปี คือ พ.ศ.๒๔๖๙ จบชั้น ป.๔ พ.ศ.๒๔๗๒ ปีการศึกษา ๒๕๗๑ ผมคิดว่าคนยุคนั้น น่าจะไม่อยู่กันหมดแล้วนะครับ) ใน “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒” มาลงเต็ม ท่านเล่าไว้ดังนี้ครับ “ผมได้รับการบอกเล่าจากท่านผู้อำนวยการฯ และอาจารย์ ๒-๓ ท่านว่า เสื้อกีฬาของโรงเรียนได้เปลี่ยนจากสี “น้ำเงิน เหลือง ชมพู” เป็นสี “เขียว-ขาว” อย่างเดิมแล้ว ผมได้ทราบด้วยความแปลกใจว่า เมื่อครั้งผมเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนนี้ ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ จนถึง ม.๖ (ม.ศ.๓ ในปัจจุบัน) เสื้อกีฬาและธงกีฬาของโรงเรียน ใช้สี “เขียว-ขาว” ตลอดมา และจำได้คลับคล้ายคลับคลา ว่ามีตราพระปรางค์วัดอรุณฯ ติดที่มุมธงและอกเสื้อด้วย ผมเป็นนักกีฬาคนหนึ่งของโรงเรียน ในสมัยนั้น กีฬาที่มีชื่อเสียงของโรงเรียนก็คือบาสเก็ตบอล ซึ่งกรมพลศึกษาเป็นผู้จัดการแข่งขัน และกีฬาแข่งเรือ ซึ่งกองทัพเรือจัดในงานรัฐธรรมนูญ ผมเป็นผู้ร่วมเข้าแข่งขันด้วยผู้หนึ่ง ใช้เสื้อกีฬาและธงกีฬาเป็นสี “เขียว-ขาว” อย่างแน่นอน นอกจากเสื้อกีฬาดังกล่าว การแข่งขันกีฬาประจำปีของกรมพลศึกษา พวกเราก็ใช้เสื้อ “เขียว-ขาว” ผมได้มีโอกาสสอบถาม นาวาเอกทวี พันธุ์โภคา ศิษย์เก่ารุ่นน้องของผม ได้รับคำตอบว่า เดิมใช้เสื้อกีฬา “เขียว-ขาว” แน่และมาเปลี่ยนเป็นใช้สี “น้ำเงิน เหลือง ชมพู” เข้าใจว่าจะเนื่องจากการรวมโรงเรียนอมรินทรโฆษิตเข้าด้วยกัน ฉะนั้น การที่โรงเรียนได้ใช้สีเขียว-ขาวเป็นสีกีฬาของเราในปัจจุบันนี้ จึงนับว่าเป็นการถูกต้องที่สุดและผม ในนามของศิษย์เก่ารุ่น D.T.M. รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากว่า นักกีฬาของโรงเรียนทวีธาภิเศก ได้มาใช้สีกีฬา “เขียว-ขาว” เป็นสัญญลักษณ์ของการกีฬา เช่นเดียวกับที่ผมและนักกีฬาอื่นๆ ได้เคยใช้มาเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว” น.อ.ทวี นั้น ท่านเข้าเรียนชั้น ม.๑ พ.ศ.๒๔๘๕ รุ่นเดียวกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ครับ ส่วนการรวมโรงเรียนก็คือ ในคืนวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ โรงเรียนอมรินทรโฆษิต ซึ่งรวมมาจาก โรงเรียนวัดอมรินทร์ และ โรงเรียนโฆษิตสโมสร ถูกระเบิดเพลิงทำลาย กระทรวงจึงมีคำสั่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ให้ยุบมารวมกับโรงเรียนเราครับ สำหรับชื่อ “รุ่น D.T.M” ท่านคิดขึ้นเอง มาจาก Dinosaur Turtle Million Years ไดโนเสาร์เต่าล้านปี ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655766141373670/

    ๓๒) จากหลักฐานชิ้นที่แล้ว ทำให้ทราบว่า แต่ดั้งเดิมเราใช้ สีเขียวขาว มานะครับ จากนี้ผมมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง อ.วรสิทธิ เขียนไว้ใน “๕๕ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๐๐” อยู่ใน Post ที่ ๑๖ แต่ผมเอาหน้าปกมาลง จะได้นึกออก สมาชิกไม่ต้องไปหานะครับ แล้วก็จะลงไม่ตัดเช่นกัน อันนี้เป็น File รูป แต่น่าจะอ่านง่าย ลองอ่านดูกันนะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655767711373513/

    ๓๓) จะเห็นได้ว่า เมื่อมาอยู่ วัดนาคกลาง เรามีธงโรงเรียน “น้ำเงิน เหลือง ชมพู” ซึ่งต้องใช้เป็นสีประจำโรงเรียนด้วย ผมว่าไม่ใช่อื่นไกลเลย อ.วรสิทธิ นี่แหละครับ น่าจะเป็นผู้เปลี่ยนแทน สีเขียวขาว ซึ่งท่านน่าจะไม่ทราบความหมาย แต่ “การรวมโรงเรียนอมรินทรโฆษิตเข้าด้วยกัน” แล้วเป็นเหตุให้เปลี่ยนสีนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะสัมพันธ์กันจริงหรือไม่ แต่ทั้ง ๓ สีนี้น่าจะใช้มานาน ดังรูปปกหนังสืออนุสรณ์ ๒ เล่มที่ผมนำมาลงนะครับ แล้ว“ท่านผู้อำนวยการฯ” ผู้เปลี่ยนกลับเป็น สีเขียวขาว ที่ พล.ร.ท.วิเชียร ว่าไว้ ก็ไม่ใช่อื่นไกลเหมือนกัน อ.สำเริง นิลประดิษฐ์ เรานี่เองครับ คงจะเปลี่ยนพร้อมกับตราประจำโรงเรียน ที่เดิมใช้ รูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม นะครับ ตราเดิมนี้ นักเรียนรุ่นเก่าๆ ใช้เป็นเข็มกลัดปักอกเสื้อด้วย ดังรูปที่นำมาลงนะครับ ผมถ่ายจากหน้า FB ของพี่ อาฮุย ตอนนั้น ผมยังไม่มีโลก Cyber ครับ สมาชิกท่านหนึ่งยังส่งรูปเข็มของท่านมาให้ผมด้วย ผมสันนิษฐานว่า พอเริ่มเปลี่ยน ก็ต้องให้อลังการเข้าไว้ เพราะ อ.สำเริง ท่านตั้งใจเต็มที่ จะมาพัฒนาโรงเรียน ท่านมานี่ ไม่ได้มาเองนะครับ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มา แล้วก็มิใช่ไก่กานะครับ ท่านมาเป็น “ผู้อำนวยการโรงเรียนชั้นพิเศษ” น้อยคนในสมัยนั้นที่จะได้ เท่าที่ทราบก็มี สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ พณิชย์พระนคร เก่าแก่ทั้งนั้นครับ ท่านก็คงกำหนด ดอกแก้ว ต้นแก้ว (เคยมีผู้บอกผมว่า นกแก้ว เป็นสัตว์ประจำโรงเรียน ลองวินิจฉัยเองนะครับ) ให้เข้ากับสีที่เปลี่ยนไปครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655771458039805/

    ๓๔) คราวนี้เรามาวินิจฉัยเรื่อง สีเขียวขาว กันนะครับ ว่าหมายถึงอะไร ผมคลับคล้ายคลับคลา แต่ไม่แน่ใจนักว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้กำหนดให้สีขาวนั้น หมายถึงนักเรียน แล้วกำหนดให้ใช้คู่กับสีประจำโรงเรียนหรือไม่ แต่โรงเรียนเก่าแก่หลายแห่ง ยังใช้มาจนทุกวันนี้ เช่น ฟ้า-ขาว พณิชยการพระนคร น้ำเงิน-ขาว เซนต์คาเบรียล ครับ ถ้าเป็นเช่นนั้น สีเขียว ของเรา จะหมายเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจาก วันพระบรมราชสมภพ (วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐) และ วันสวรรคต (วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย อันตรงกับวันพุธทั้ง ๒ วัน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก บางท่านอาจแย้งว่า วันประสูติ กรมขุนพิทยลาภฯ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๖ ก็ตรงกับวันพุธ ผมว่าน่าจะไม่ใช่ หากจะใช้เช่นนั้น สีชมพู วันอังคาร วันพระบรมราชสมภพพระพุทธเจ้าหลวง มิดีกว่าหรือ ถ้าจะถามต่อว่า แล้วทำไมไม่ใช้ ผมขอยืมคำของ อ.สงบ สวนสิริ เขียนไว้ใน “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒” ที่ว่า “ตราทวีธาภิเศก สมัยโน้นไม่ยักมีใครสนใจใยดี มองข้ามไปถึงพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม” มาเป็นคำตอบ หวังว่าคงเปรียบกันได้นะครับ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ก็คือ ความ เลือนราง ของ ทวีธาฯ วัดนาคกลาง ที่เคยเรียนไว้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ผมต้องจบการค้นคว้าเรื่องช่วงนี้ แต่ก็มีข้อมูลอยู่ ดังที่นำมาลงแสดง เสียดายที่ค้นคว้ามาครับ ท่านใดจะเชื่อหรือไม่เชื่อตาม ก็แล้วแต่วินิจฉัยนะครับ ส่งความเห็นมาแลกเปลี่ยนกันก็ได้ ส่วนรูปก็เอามาพักสายตาเช่นเคย เป็นฝีมือ ครูเหม เวชกร ท่านเดิม เขียนจากจินตนาการ (เหมือนผมเลย) ตามเดิมครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655774101372874/

    ๓๕) เมื่อเขียนถึงหัวหน้าศึกษาสถาน ผมขอฝากข้อมูลหนึ่งไว้ใน Post นี้ด้วยนะครับ อาจมีผู้มีอำนาจใดมาแก้ไขได้ เรื่องนี้อยู่ในช่วงต้นๆ ของโรงเรียน ที่ยังตั้งอยู่ที่ วัดอรุณฯ แต่ใช้ชื่อ ทวีธาภิเศก แล้ว ดังนี้ครับ เมื่อแรกค้นคว้า ผมเห็นว่าประวัติครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผอ. เป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยเฉพาะท่านแรกๆ แต่จริงแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมจึงได้แต่เก็บข้อมูลไว้ใน ครูใหญ่ผู้มีบรรดาศักดิ์ ของงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ๑.ขุนอุปการศิลปเสรฐ ๒.นายพร้อม ๓.นายชม จริงแล้วมีอีก ๒ ท่านนะครับ คือ ๔.ขุนดรุณวิทยวรเสรฐ และ ๕.ขุนวิสิฐดรุณกล ซึ่งผมตั้งใจจะไปหาใน “วิทยาจารย์” แต่เกิด Covid-19 ขึ้น ไปไหนไม่ได้ ก็ตามนั้นครับ ท่านที่ ๑. และ ๓. มีข้อมูลมากพอสมควร แต่ท่านที่ ๒. ไม่มีเลย โรงเรียนเอารูปถ่ายที่ไหนมาก็ไม่ทราบ ติดไว้ที่ “บอร์ดผู้บริหาร” ดังรูปใบที่ ๑ นะครับ ซึ่งผมก็จนใจ เพราะว่าท่านต้องไม่เป็น “นายพร้อม” เฉยๆ แน่นอน ควรมียศศักดิ์ เจริญก้าวหน้าไป ทำให้หาข้อมูลยากมากครับ แต่ไม่ทราบว่านึกอย่างไร ในวันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓ สายๆ หลังกลับจากปั่นจักรยานไปโรงเรียนมาแล้ว ได้ลองประณมมือ อธิษฐานจิตร (เล่นๆ) ว่า “หากมีบุญจะได้ทำงานนี้ต่อไป ขอครูบาอาจารย์ช่วยหาให้ด้วยเถอด อย่าได้ยากเย็นแสนเข็ญอย่างใดเลย” แล้วก็ขึ้นไปค้นในดรรชนี “ประวัติครู” ที่มีอยู่ที่บ้าน พบชื่อ “ขุนพร้อมพิทยาคุณ (พร้อม เผื่อนพงศ์)” จึงลงมาค้นใน Website ของ คุรุสภา พบว่าใน “ประวัติครู ๑๖ มกราคม ๒๕๐๖” (รูปที่ ๒ ครับ) นางเอื้องพันธุ์ คุ้มหล้า ครูใหญ่โรงเรียนสตรีพัทลุง พ.ศ.๒๔๘๗-๒๔๙๐ บุตรีท่าน เขียนประวัติพร้อมลงรูปถ่ายไว้ด้วย (รูปที่ ๓ ครับ) มีความตอนหนึ่งว่า “เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดอรุณฯ (ทวีธาภิเศก) แล้วจึงย้ายไปเป็นข้าหลวงมณฑลอุดร เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔” ตรงตามที่ อ.วรสิทธิ เขียนไว้ใน “๕๕ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๐๐” แต่ราชทินนามท่านสะกดว่า “พร้อมพิทยคุณ” ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เท่านี้ว่าแปลกแล้ว ยังมีกว่านี้อีกครับ หลังจากนั้นราว ๒-๓ วัน ผมก็ไป หอจดหมายเหตุ ค้นข้อมูลทวีธาฯ ตามปรกติ แต่เป็นเรื่องอื่น พบข้อมูลของท่านโดยบังเอิญอีกเพียบ ดังรูปที่ ๔-๘ นะครับ พอขอเขาทำสำเนาเสร็จ ต้องรีบถีบจักรยานไปไหว้พระในโบสถ์ วัดราชาธิวาส สวดมนต์ขาดๆ วิ่นๆ อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ด้วยอัศจรรย์ใจในแรงครูบาอาจาริย์จริงๆ ผมถึงเกริ่นมาแต่ต้นว่า ขอ “ผู้มีอำนาจ” ท่านใดก็ได้ ช่วยแก้ไขให้ผมด้วยเถิด ผมสงสาร ท่านเป็นเพียง “นายพร้อม ครูใหญ่โรงเรียนทวีธาภิเศก” ที่ไร้ประวัติใดอยู่กว่า ๗๐ ปี เพียงแค่โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นขุนนางบรรดาศักดิ์ใด ราชทินนามว่ากระไร ก็ไม่มีใครทราบแม้แต่น้อย ถึงท่านจะอยู่กับเราไม่นาน แต่ก็เป็นธรรมชาติวิถีของทั้งราชการและบุรพกรรมมนุษย์นะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655994354684182/

    ๓๖) หวังว่าคงตอบคำถามหมดแล้วนะครับ คราวนี้จะเขียนเรื่องงานค้นคว้าของผมต่อไป Post นี้ ความจะต่อจาก Post ที่ ๑๘) นะครับ ผมใช้เวลาอีก ๑ ปี ด้วยทุนที่รุ่นน้องให้ไว้ก่อนกลับอเมริกา งานสำเร็จ ปิดเล่มในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓ พอดีเลยครับ ตรงนี้เกิดมรสุมลูกที่ ๑ รายละเอียดผมไม่ขออ้างถึงนะครับ แต่มรสุมลูกนี้พยายามชี้นำว่า “วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ไม่ใช่วันทวีธาภิเศก” ผมของขึ้นเลยครับ เพราะ ๑.เขาใช้หลักฐานสำคัญ แต่ชูประเด็นที่ไม่สำคัญ ๒.(ข้อนี้ ผมขอประทานโทษก่อน ที่ต้องออกชื่อ แต่ขอเรียนจากใจจริงว่า ณ เวลานี้ อโหสิกรรมให้หมดแล้ว) หน่วยงานสำคัญของโรงเรียน (จะเรียกว่าโรงเรียนก็คงได้) และองค์กรหนึ่งที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนมรสุมลูกนี้ แต่ผมว่าทั้งโรงเรียนและองค์กรนั้น ก็คงรับข้อนี้ไม่ได้ แต่ไม่รู้จะไปเถียงมรสุมลูกนั้นอย่างไร ผมขอเถียงแทนยันป้ายเลยครับ การคำนวนเรื่องนี้ ขอโทษนะครับ มิใช่ซี้ซั๊ว คงพอจำ กรมพระสมมตฯ กันได้นะครับ นั่นก็พระองค์หนึ่ง อีก ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามหามาลาฯ และ กรมพระยาเทวะวงษ์ฯ (ผมขอใช้ย่อๆ นะครับ) ทรงคำนวนวันถวาย กรมพระยาเทววะวงษ์ฯ ท่านคำนวนไว้ก่อน กรมพระสมมตฯ ท่านมาคำนวนภายหลัง ตกวันตรงกัน แต่เจ้าฟ้ามหามาลาฯ ท่านคำนวณไว้ก่อนหน้านั้นมาก ตกวันต่างกันเพียงวันเดียว ยังต้องสอบเทียบกันวุ่นวาย พระพุทธเจ้าหลวงท่านเชื่อน้องท่าน ๒ พระองค์ครับ เรื่องนี้สำคัญมาก พอเทียบวันครองราชย์ทั้ง ๒ รัชกาลให้ตรงกันแล้ว ต้องส่งไปที่ กรมโหรหลวง ให้เขาคำนวนพระฤกษ์ ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะจะกำหนดเป็น ฤกษ์สรงมุรธาภิเศก ทั้งหมดนั้น ตรงกับเวลา ๕ โมง (๑๑.๐๐ น.) กับ ๕ นาที ๔๘ วินาที ของ วันอังคารที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๑ ซึ่งเรามากำหนดเป็น “วันทวีธาภิเศก” ถูกต้องแน่นอนครับ แต่ผมไม่มีเวทีเถียง ก็ได้แต่เก็บไว้ น้อยใจนิดหนึ่งว่า เหตุใดโรงเรียนหรือองค์กรนั้น จึงไป “จ้าง” ให้มรสุมลูกนั้นทำ แล้วก็เชื่อด้วย ทั้งๆ ที่ก็เห็นว่าเขาจบใหม่ เป็นเด็กเหลือเกิน กรรมนะครับ รูปที่นำมาลงนี้คือ “ใบคำนวนของกรมพระยาเทววะวงษ์ฯ” ครับ มีเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน้า เมื่อเขียนถึงตรงนั้นแล้วจะนำมาลงเต็มครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3656536684629949/

    ๓๗) คราวนี้ก็มรสุมลูกที่ ๒ ผมจะไม่เล่า “ต้นสาย” แต่จะเขียน “ปลายเหตุ” เลยนะครับ เรื่องนี้เคยเกริ่นๆ ใน Post ที่ ๔ แล้ว มรสุมลูกนี้ ทำให้ผมต้องปรับปรุงงานที่ปิดเล่มไปแล้วนั้น ให้อลังการขึ้นไปอีก เพราะ “ต้นเค้า” ของมรสุมบอกว่า จะนำไปพิมพ์ ๔ สี อย่างดี ไม่ขายด้วย ให้เป็นอภินันทนาการ ผมมาคิดหนัก เพราะคราวนี้ คงต้องขอเอกสารต้นฉบับมาดู แล้วนำไป Scan ที่ห้องรูป อันเป็นคนละหน่วยงานกับห้องเอกสาร วิธีนี้ สีและความคมชัดเทียบเท่าต้นฉบับ เราจะได้ “รูป” ของเอกสารที่สวยงามมากครับ แต่ค่าบริการ File ละ ๔๐ บาท ๑ File มี ๑ หน้า เท่านั้น ทั้งต้องใช้หนังสือราชการสถานเดียว ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ต้องพิจารณาก่อนทุกกรณี ว่าจะอนุญาตหรือไม่ เพราะเป็นต้นฉบับตัวจริง ผู้ไม่มีความรู้ อาจทำเอกสารเสียหายได้ กรณีอนุญาต มีน้อยมากครับ ต้องหน่วยงานใหญ่ๆ บารมีมากๆ เมื่ออนุญาตแล้วก็ไม่ให้เยอะนะครับ แต่ผมใช้ Credit ตัวเอง ที่มาค้นคว้างานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๙ เขาจึงอนุญาตเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องมีหนังสือราชการแม้แต่ตัวเดียว แล้วให้ในจำนวนตามแต่เราต้องการด้วย ตรงนี้ขอเรียนว่า แม้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ สภากาชาดไทย ที่ผมทำงานอยู่ ลูกศิษย์มาขอร้องให้ช่วย ผมปัดให้ไปทำเอง อ้างว่าอายุมากแล้ว Concentration มีน้อยลง ทั้งไม่มีเวลา ต้องดูแลแม่ ซึ่งอายุ ๘๙ ปีแล้ว ก็ได้มากันคนละ ๑๐-๒๐ หน้า (แต่งานของผม ได้มากว่า ๑๕๐ หน้า เป็นเงินเท่าไร ไม่อยากคิดเลย แล้วก็ค่าเอาไปอัดอีก หน้าละ ๑๕ บาทครับ) ดังนั้น ค่าใช้จ่ายตรงนี้จึงสูงมาก เรียกได้ว่าเกินกำลังผม ซึ่งปัจจุบันมิได้ทำงานประจำแล้วนะครับ ที่สำคัญยังมิได้รับอนุญาตจาก “ต้นเค้า” แต่ผมก็ตัดสินใจว่าต้องทำ เพราะตั้งใจทำงานนี้จนสุดกำลัง ให้ดีที่สุด พยายามหาสิ่งดีที่สุด มาทดแทนพระคุณโรงเรียนที่เราเรียนมาให้จงได้ บังเอิญไปคุยกันในหมู่ลูกศิษย์รุ่นเล็ก เขาตกลงกันว่าจะรวมเงิน ช่วยกันตามกำลัง แต่เมื่อลูกศิษย์รุ่นใหญ่ทราบ มีคนหนึ่งอาสาว่า เงินเพียงเท่านี้ เขาขอออกให้คนเดียวสะดวกกว่า เพื่อขอสนองพระคุณครู ทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการด้วย ซึ่งผมก็มีแต่เพียงคำขอบคุณให้เขาเท่านั้นเองครับ งานชิ้นนี้สำเร็จลงในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๕ มรสุมเกิดในวันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๖ คือ ไม่พิมพ์ แล้วก็ใช้วิธีที่ไม่ค่อยดีนัก เอา File ทั้งหมดของผมไปด้วย ลูกศิษย์ผมบอกยอมไม่ได้ จะไปฟ้องร้องถึงโรงถึงศาล ผมแทบจะต้องกราบกรานเขา ขอให้เห็นแก่ผม ที่เป็นครูเขาเถิด อย่าให้มันมากเรื่องมากความไปเลย เขาก็เลยขอเอาไปทำ E-Book เพื่ออย่างน้อย เราก็ Publish ก่อน นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ผมต้องเปิด FB ขึ้นมา แต่กว่าจะเปิดได้ มี พระบารมี มาบังคับตั้ง ๒ ครั้ง ผมขออนุญาตไม่เล่าดีกว่า จากนี้ น่าจะเข้าสู่เนื้อหากันได้แล้ว มี FC รอไม่น้อยเหมือนกัน ขอจบด้วย กรรมโยนี กรรมพนฺธู กรรมปฏิสรณา ลองไปหาแปลกันเองนะครับ Post นี้ ไม่มีรูปให้ดู แล้วก็ไม่อยากเขียนถึง แต่จำต้องทำ เพราะจะได้เป็นข้อมูลไว้ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3656617054621912/

    ๓๘) ผมต้องขอบคุณทุกท่านที่อ่านหรือกด Like กด Love ใน Post ที่แล้วของผม ซึ่งทั้งยาว ทั้งไร้สาระ แต่ผมว่า “ต้นเค้ามรสุม” ลูกนั้น คงเจ็บๆ คันๆ บ้าง ท่านเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงนะครับ กฎหมายอาจทำอะไรท่านไม่ได้ แต่รตยานุภาพดังพุทธวจนที่ผมยกมาตอนท้ายนั้น ต้องไปถึงท่านแน่ๆ ตามจริงผมว่า เราจะมองให้เป็นเรื่องดีก็ได้ ถ้าไม่มีมรสุมลูกนี้ ผมก็คงไม่ “จัดเต็ม” แล้วเราก็คงไม่ได้เอกสารชุดนี้มางดงามอย่างนี้ เชื่อไหมครับ เวลาใดที่ผมเกิดโมหโทสจริตต่อมรสุมลูกนั้น ผมมองไปยังเอกสารเหล่านี้ หายไปเลยครับ มีแต่ความชื่นใจเข้ามาแทนที่ ผมจึงขอเรียนว่า “อโหสิกรรมนี้ ยังผลให้เกิดแล้ว อาฆาตแคล้ว พยาบาทสูญ ไม่แลเห็น ถึงโรคซ้ำ กรรมซัด วิบัติเป็น ถึงชั่วเข็ญ ดีได้ ใจเบิกบาน” เอาล่ะครับ กลับมาดีกว่า มีผู้ Inbox ถามเรื่อง “การอ้างอิง” มาครับ ท่านอยากให้ลงไว้ด้วย เพื่อตามกลับไปสืบค้นได้ ผมตอบท่านไป แล้วก็คิดได้ว่า เอามาลง Post ดีกว่า เป็นความรู้ด้วย ดังนี้ครับ แต่แรกก็อยากลงนะครับ แต่มันยาวเกิน เพราะมีทั้ง ๑.สมบูรณ์ ๒.สังเขป ๓.ย่อ เช่น สมบูรณ์ เอกสารรัชกาลที่ ๕ กระทรวงมุรธาธร อาลักษณ์และรัฐมนตรีสภา หัวข้อที่ ๑๖ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปึกที่ ๑ พระราชทานแก่ข้าราชการ เรื่องที่ ๑๐๙ สัญญาบัตรและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประทวน เหรียญทางกรมรถ กรมม้า กรมโขนแลกรมรำโคม (๓๑ ส.ค.๑๒๐-๕ เม.ย.๑๒๗) สังเขป เอกสารรัชกาลที่ ๕ กระทรวงมุรธาธร อาลักษณ์และรัฐมนตรีสภา ๑๖.๑/๑๐๙ (ในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ ผมใช้อย่างนี้ครับ) ย่อ ร.๕ อ.๑๖.๑/๑๐๙ เครื่องหมายก็ต้องให้ถูกของเขานะครับ จะใช้ตามใจเรา เช่น ตรงนี้ . ตรงนั้น / ไม่ได้ เพราะเวลาเขียนขอเอกสารมาดู เราต้องใช้อย่างย่อครับ จะได้เข้าใจตรงกัน มิฉนั้น เจ้าหน้าที่ผู้หาเอกสารจะหยิบผิดครับ แต่ถ้าสังเกตดีๆ ในเอกสารของผม น่าจะส่วนมุมบนๆ มีอ้างอิงย่ออยู่ แต่ไม่เสมอไปนะครับ พอขอไปแล้ว เขาก็อาจจะแจ้งว่า นี่เอกสารเก่ามากๆ ไม่ให้ดูฉบับจริง ให้ไปดูจากเครื่องอ่าน Microfilm ซึ่งก็ต้องใช้อีกรหัสหนึ่ง เช่น ม ร.๕ รล/๔ หมายถึง ไมโครฟิล์มเอกสารรัชกาลที่ ๕ กรมราชเลขาธิการ ม้วนที่ ๔ (เท่าที่ทราบ เอกสารรัชกาลที่ ๕ ทั้งหมด ไม่อนุญาตทุกกรณี ที่จะขอดูฉบับจริงครับ) แต่เราจะเอารหัส Microfilm นี้มาอ้างอิงไม่ได้ ต้องใช้รหัสหน้าเอกสาร ดังรูปทั้ง ๔ ใบ ด้านล่างนี้นะครับ เพราะ Microfilm ม้วนหนึ่งมีเป็นพันหน้า อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ต้องหมุนล้อของมันแล้วกะระยะเอา (ตรงนี้อธิบายยาก ต้องทำให้ดูครับ) แต่ของผม Scan จากต้นฉบับจริงทุกชิ้น ไม่ผ่านกระดาษสาอย่างที่เคยเรียนไว้นะครับ แล้วไม่ต้องกังวล ผมจะเย็บเล่ม (ถ้ามีทุนจะ Print สี นะครับ) เก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์โรงเรียน ให้ลูกหลานเราค้นคว้าง่ายๆ ต่อไป เพราะกว่าจะมาถึงตรงเขียนขอเอกสารมาดูได้นี่ ต้องไปขอดูจากบัญชีของเขาก่อน ซึ่งก็ใช่จะดูแล้วเข้าใจได้ง่าย ร้อยทั้งร้อยครับ ขาใหม่ ขาเก่า ขาประจำ ขาจร ก๊งทั้งนั้น นี่ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมนะครับ หลายครั้งก็ก๊ง ผมถึงว่ารอดูสักพักครับ ถ้า พระบารมี สุดท้ายโปรดมาเมื่อไร คงได้อ่านกันทั่วหน้าไม่ต้องกลับไปค้นหรอกครับ ลำบากเปล่าๆ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3656649351285349/

    ๓๙) ว่าจะเข้าเรื่อง “พระราชทานกำเนิดทวีธาภิเศก” ได้แล้ว ก็ยังไม่ได้ มีสมาชิกกรุณาให้ความเห็นต่างๆ มามากมาย ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ไม่น้อยเลยครับ ผมก็ต้องขออนุญาตใช้สิทธิ์ “สมาชิก” กับเขาบ้าง ลองดูรูปและคำบรรยายด้านล่างนี้กันนิด แล้วให้ความเห็นมากันหน่อยนะครับ รูปแรกมาจาก “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒” รูป ๒ มาจาก “พิพิธภัณฑ์โรงเรียน” รูป ๓ และ ๔ มาจาก “ที่ระลึกในโอกาสเปิดป้ายโรงเรียน ๒๕๓๖” เป็นบทความของ อ.เรวัติ ชื่นสำราญ เขียนไว้แต่ พ.ศ.๒๕๒๑ นำมาลงพิมพ์ซ้ำ แต่ไม่แจ้งที่มาครับ ขออนุญาตเรียนว่า ต้องใช้วิจารณญาณ อย่าไปปรักปรำ อ.เรวัติ ท่านเลยนะครับ ความเชื่อนั้น เป็นเรื่องปัจเจก แต่สำหรับผม “ทุกที่ในโรงเรียนมีเรื่องราว และ พ่อขุนเป็นจริงอยู่ในใจผมเสมอครับ”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657170654566552/

    ๔๐) Post นี้ ก็น่าจะเข้าเรื่องได้แล้ว แต่ก่อนอื่น ผมขอ “เอาพระคุณไตรรัตน์กระพัดจิต พระคุณเจ้าชีวิตคิดถวาย คุณบิดามารดรไม่คลอนคลาย คุณครูบาอาจารย์หมายประกอบการ ถ้าแม้นลูกตั้งใจไว้เช่นนี้ ขอให้เกิดผลดีทุกสถาน อุปสรรคอย่าได้มีมาแผ้วพาน ปวงเทวัญพลันบันดาลทุกเมื่อไป” เหตุแห่ง การพระราชทานกำเนิดโรงเรียนทวีธาภิเศก นั้น ไม่ใช่มีเรื่อง โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม เหตุเดียว ผมจะขอเล่าอย่างง่ายๆ ไปเรื่อยๆ นะครับ เริ่มต้นด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าหลวงทรงครองราชย์ เท่า กับรัชกาลก่อน เรียกว่า พระราชพิธีสมภาคาภิเศก มี ๔ ครั้งนะครับ ครั้งแรกคือ รัชกาลที่ ๒ “วัน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม เบ็ญจศก จ.ศ.๑๒๔๕” (วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๖) ครั้งนี้แหละครับที่โปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ ทรงคำนวนสอบวันอย่างละเอียด ดังที่เคยเขียนใน Post ที่ ๓๖ มาแล้ว Post นี้ ผมขอลง “ใบคำนวน” ครบทั้ง ๒ ใบเลยนะครับ คราวที่แล้วเป็นขาวดำ คราวนี้จัดเต็ม ลงเป็นสีเลย จะได้สวยๆ (แต่แลกกัน อ่านยากหน่อยครับ) ที่จริงมี ๔ ใบ คือ อักษรบรรจง ที่นำมาลงนี้ กับ อักษรหวัด ซึ่งถวายเป็นสำเนา ถ้าอ่านใจความ จะทราบได้เลยว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เคยทรงคำนวนถวายมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่คลาดกับ กรมหมื่นเทวะวงษ์ฯ อยู่เพียงวันเดียว พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงเชื่อน้องท่าน แล้วก็มีกระบวนการอีกวุ่นวาย ต้องมากำหนดพระฤกษ์สำคัญ หรือทำหมายรับสั่ง หมายกำหนดการ ฯลฯ อย่างที่เขียนใน Post ที่ ๓๖ นั้นแหละครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657381467878804/

  • เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.3

    เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.3

    ๒๑) โรงนี้ดูคล้ายเป็นศาลาโถงใหญ่ เหมือน ศาลา ๘๐ พรรษา เดี๋ยวนี้ล่ะครับ รูปนี้เป็นใบเดียวที่เห็นชัดที่สุด ผมว่ารูปใน Post ที่แล้วและ Post นี้ ร้อยทั้งร้อยมาเห็น ก็คงจะบอกยากอยู่ครับ ท่านใดรำลึกอะไรได้ ขอความกรุณาเพิ่มเติมมาเลยนะครับ อย่าเกรงใจ น้องน้อยรอข้อมูลอยู่ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654303488186602/

    ๒๒) ส่วนเรื่องเหรียญ พี่กนก จิตรภักดี เคย Post รูปแล้วครับ ผมขออนุญาตเพิ่มเติมนะครับ “๙๐ ปี ทวีธาภิเศก” บอกว่า “ในพิธีเปิดตึกนี้ ทางโรงเรียนจึงสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นเป็นครั้งแรก” ซึ่งก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกนะครับ การทำเหรียญคงต้องทำไปก่อน แล้วก็แก้ไม่ได้ แต่ผมว่าดีนะครับ ไม่อย่างนั้น เราจะไม่ทราบเลยว่าตึกนี้เคยมีชื่ออย่างนี้ บางครั้ง ความผิดพลาดในประวัติศาสตร์ (จริงแล้วไม่อยากเรียกอย่างนี้เลย กลัวบุคคลร่วมสมัยจะเสียใจครับ) ก็เป็น ประโยชน์ต่อประวัติศาสตร์ เช่นกันครับ อ้อ ข้อความหน้าเหรียญ คือวันเปิดเรียนวันแรกของโรงเรียน ตรงกับวันพฤหัสบดี ร.ศ. ๑๒๑ ครับ ผมมีรูปพิธีพุทธาภิเษกเหรียญนี้จาก อนุสรณ์ทวีธาภิเศก ๒๕๑๔ มาให้ดูด้วยนะครับ แต่น่าเสียดายไม่มีข้อมูลใดเลย ท่านใดทราบขอความกรุณาอีกเช่นกันครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654309938185957/

    ๒๓) ผมขอเขียนถึงพระองค์ธานีฯ กับตึกพิทย์ฯ อีกสักหน่อยนะครับ ผมรู้สึกว่า ตึกพิทย์ฯ เป็นความภูมิใจแรกของโรงเรียน อ.อุทัย เคนท้าว (ธีรรัช วงศานาถ) เขียนไว้ใน “๑๐๐ ปี ทวีธาภิเศก” พอสรุปได้ว่า แต่ก่อน การจะของบประมาณที่สูงถึงสองล้านบาท มาสร้างตึกเช่นนี้ยากมากครับ “โรงเรียนใดจะได้งบประมาณมาสร้างอาคาร จะต้องสอนนักเรียนให้เก่งและสอบติดบอร์ดใน ๘๐ คนแรกของประเทศ ซึ่งแต่เดิม โรงเรียนยังไม่มีนักเรียนคนใดทำได้มาก่อน แต่ในปีนั้นเอง นักเรียนทวีธาภิเศกสอบติดบอร์ด ๒ คน คนหนึ่งคือลูกชายของอาจารย์เชลง นีละเสวี ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ จึงได้งบประมาณมา” พิธีเปิดก็เช่นกัน “อาจารย์เรวัต ชื่นสำราญกับผู้เขียน ต้องเข้าเฝ้ากรมหมื่นพิทยลาภฯ ที่วังถนนเพชรบุรีหลายครั้งหลายครา พระองค์ท่านได้ประทานหนังสือหลายร้อยเล่ม ให้ห้องสมุดของโรงเรียน” ตรงนี้ผมขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัวนะครับ อาจจะพาดพิงบุคคลอื่นบ้าง ต้องขอประทานโทษก่อน คือ ปัจจุบัน โรงเรียนก็ยังคงรักษาตึกนี้ไว้ เคยได้ยินว่ามีศิษย์เก่ามากันช่วยบูรณะ ก็คงเป็นนิมิตที่ดีต่อไป แต่ผมว่าตึกนี้ น่าจะรักษาไว้ในฐานะ อาคารอนุรักษ์ที่มีชีวิต คือ มีการเรียนการสอนหรือกิจกรรมประจำวันเหมือนปรกติ แล้วก็ต้องมีเกียรติประวัติด้วย สิ่งหนึ่งที่ในเมืองนอกหรือเมืองไทยปัจจุบันนิยมทำก็คือ Hall Way ไม่ยากเลยครับ ผนัง กำแพง ประตู หน้าต่าง (แต่ไม่ใช่เปรอะนะครับ) ติดเข้าไปครับ ประวัติ รูปภาพ รูปปั้น แบบแปลน ข้อมูล เอกสาร คำกราบทูล พระดำรัสตอบ ของประทาน ของถวาย คืออะไรบ้าง เราต้องพยายามหามาให้ครบ (ผมเชื่อว่าต้องอยู่ในโรงเรียนนั่นแหละ) ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ชื่อตึก (อันใหม่นะครับ ไม่ใช่อันเก่าตรงกันสาด นั่นต้องอนุรักษ์ไว้) เป็นผม จะถ่ายลายเซ็นกรมขุนพิทยลาภฯ มาเลย เมื่อวานนี้เอง ผมไปสอน ลูกศิษย์ นักเรียนแพทย์ปี ๓ เองครับ เขาบอกว่า “อาจารย์ โรงเรียนทวีธาฯ ของอาจารย์น่ะ สิ่งที่มันไม่มีขึ้น ไม่มีตก ก็คือ “ชาติกำเนิด”ถ้าไม่คิดรักษาไว้ ก็ไม่รู้จะว่าไงแล้วล่ะ”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654351538181797/

    ๒๔) อีกเรื่องหนึ่งที่ถามกันมามาก ทั้ง In/On/Out Box กันเลย ก็คือเรื่องที่ผมขอรวมมาเรียกว่า “ทวีธาฯ วัดนาคกลาง” นะครับ ตรงนี้ผมเข้าใจเลยว่าเป็นเรื่อง ร่วมสมัย ผลจึงออกมาดังนี้ ขออนุญาตชี้แจงนะครับ งานที่ผมค้นคว้า แยกได้เป็น ๔ เรื่องครับ คือ ๑.กำเนิดโรงเรียนวัดอรุณราชวราราม ๒.พระราชทานกำเนิดโรงเรียนทวีธาภิเศก ๓.โรงเรียนทวีธาภิเศก วัดนาคกลาง และ ๔.เหรียญทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ เรื่องที่ ๒. และ ๔. กระจ่างชัดเจน ขอความกรุณาสมาชิกทุกท่านติดตามอ่านต่อไป (ถ้ายังไม่เบื่อนะครับ) ผมตอบได้ทุกคำถาม ตรงนี้ ขออธิบายเรื่องที่ ๑. ก่อนครับ โรงเรียนวัดอรุณฯ ถือกำเนิด พ.ศ.๒๔๒๘ แน่นอนครับ ดังหลักฐานที่ผมนำมาลง จริงแล้วมีมากกว่านี้ จะนำมาลงครบทุกชิ้น เมื่อเขียนถึงนะครับ รูปที่ ๑-๒ เป็น ราชกิจจานุเบกษา ลงพิมพ์ “ริโปดกราบบังคมทูลพระกรุณา” ของ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร หรือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ครับ ท่านเป็นผู้รับสนองพระราชดำริไปจัดการ “โรงสกูลหนังสือแผนใหม่” จนตั้ง โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกก่อนหน้านี้ แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใดแน่นอนนะครับ อาจจะประมาณ พ.ศ.๒๔๒๗ ก็ได้ ต่อจากนั้นอีก ๑ ปี จึงตั้งโรงเรียนเราเป็นกลุ่มที่ ๒ ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเก่าแก่มากครับ รูปที่ ๓ เป็น “ตรางความรู้นักเรียน” ถ้าดูให้ดี โรงเรียนวัดอรุณฯ อยู่ “ที่เลข ๑๒” ครับ มีนักเรียน มูลบทฯ ในเดือนแปดแรก ๓๔ คน แปดหลัง ๔๕ คน (คงพอเข้าใจนะครับ) แต่เดือน ๗ ไม่มีข้อมูล แสดงว่า วัดอรุณราชวราราม ตั้งโรงเรียนหนังสือไทยแผนใหม่ขึ้นในเดือน ๘ บุรพาสาธ ปีรกาสัปตศก จ.ศ.๑๒๔๗ (ปีนี้ จันทรคติเป็นอธิกมาส ขึ้นเดือน ๘ บุรพาสาธ วันศุกร์ที่ ๑๒ มิถุนายน สิ้นวันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๘ อันนี้ภาษาทางการ แต่คงพอเข้าใจเหมือนเดิมนะครับ) ส่วนรูปที่ ๔ เป็นรายงานฉบับแรกของโรงเรียน ทำขึ้นหลังตั้งโรงเรียนได้ ๑ ปี ใน พ.ศ.๒๔๒๙ เพื่อกราบบังคมทูลฯ พระพุทธเจ้าหลวงครับ “อินสเปกเตอร์” ของสมเด็จท่านไปตรวจ เป็นรายวันกันเลย แล้วมาสรุปรวม นับว่าถี่มาก (ส่วน พ.ศ.๒๔๓๘ ที่เข้าใจกันมานานนั้น ผมจะอธิบายต่อไป อย่าเพิ่งถามตอนนี้เลยนะครับ ถ้าตอบ ก็คงอีกหลาย Post) เรื่องทั้งหมดนี้ มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง Inbox มาว่า “ครูอยากให้ประกิตเป็นผู้ไขกุญแจปริศนานี้ เพราะพูดกันมานานแล้ว” ผมขอตอบอาจารย์ใน Post นี้เลยนะครับว่า “ผมไขประแจกำปั่นนี้ เอาของออกมาแล้ว ขอเชิญผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้เอง ตามแต่วัตถุประสงค์ แต่ตัวผม ขอไม่ทำและไม่ชี้นำอย่างใดทั้งสิ้นนะครับ”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655026008114350/

    ๒๕) ส่วนเรื่องที่ ๓. โรงเรียนทวีธาภิเศก วัดนาคกลาง ผมมีข้อมูลอยู่ไม่น้อย ขออนุญาตอ้างถึงนิดหนึ่งนะครับ เมื่อช่วงก่อนวันพุธที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๖ นี้ เคยอาศัย “อวตาร” ลงใน กิตติพงษ์ กุลเวศภัทรวงศ์ (ท่านใดสนใจตามกลับไปดูได้ครับ) พี่ฮุย บอกว่าผลตอบรับดีมาก สมาชิกเข้ามาให้ความเห็นกันเนืองแน่น จริงเท็จไม่ทราบนะครับ เรื่องนี้ผมเข้าใจทุกท่าน แต่ผมตัดสินใจแล้วครับว่า ต้องจบการค้นคว้าเรื่องนี้แล้ว ด้วยเหตุว่า ข้อมูลนั้น มีทั้ง มืดบอดสนิท เลือนราง และ มาก คงทำต่อไปไม่ไหว อาจ กวน ไปนิดหนึ่งนะครับ แต่เป็นเช่นนั้นจริง คืออย่างนี้ครับ “ปรกติประกิตวิสัย” ทุกอย่างต้องกระจ่าง ตัวอย่างนะครับ อ.วรสิทธิ เขียนไว้ว่า ที่ดินตรงนี้ พระเทพสิทธินายก (เหรียง อินฺทสโร ปธ.๓ รูปด้านล่างนี้ มาจาก ๑๐๐ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๘ ครับ) ให้เรา มี “ลายลักษณ์อักษร” ทำไว้ เพียงคำนี้เท่านั้น ผมต้องตีความหลายซับหลายซ้อนเลยครับ เช่น ต้องมี “หนังสือ” ต้องตัด “โฉนด” หลักฐานเหล่านั้นไปอยู่ที่ใด “หนังสือ” ก็น่าจะต้องอยู่ ๓ ที่ คือ กระทรวง โรงเรียน และ วัด “โฉนด” เพิ่มไปอีกที่หนึ่งครับ เขต ใครจะได้ ตัวจริง สำเนาคู่ฉบับ เก็บไว้ ตามแต่ หลักฐานเหล่านี้ ถ้าเราไม่ใช่ “คนใน” โรงเรียน คงไม่มีอำนาจและบารมีพอที่จะเรียกมาดูได้ครับ ส่วนรูปถ่ายทางอากาศ (รูปที่ ๒ ครับ) มาจาก ๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒ ถ่ายก่อนสร้าง ตึกสุรชัยรณรงค์ ช่วงแรก พ.ศ.๒๕๑๘ (รูปที่ ๓ ครับ) มีผู้ขอแผนผังมา เพราะนึกกันไม่ออกเลยว่าที่ผมเขียนไป อาคารใด อยู่ตรงไหนบ้าง ตอนแรกผมจะ Crop แล้วใส่ตำแหน่งบอกไว้ คิดไปคิดมาลงเต็มรูปดีกว่า ท่านใดสงสัย Mark จุดมาถาม หรือจะเพิ่มเติมข้อมูลก็ได้ เรียนเชิญเลยนะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655029944780623/

    ๒๖) อีกอย่างหนึ่ง ผมว่า อ.วรสิทธิ ท่านเป็นคนฉลาด ตรงนี้มี Skeleton in the cupboard อยู่โครงหนึ่ง ผมเล่าตรงนี้คงไม่เป็นไร แต่ก็สรุปจากหลักฐานนะครับ เท็จจริงอย่างไร ลองพิจารณาดูครับ เมื่อเราต้องย้ายออกจากวัดอรุณฯ ตอนแรก ท่านเจ้าอาวาส (ออกชื่อก็คงไม่เป็นไร) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) ท่านว่าจะให้ที่ดินหลังวัดถึง ๒๐ ไร่ แต่แล้วกลับไม่ให้ โดยไม่มีเหตุผล อ.อุทัย มาเขียนไว้ใน ๑๐๐ ปี ทวีธาภิเศก ว่า “เนื่องจากประชาชนเข้าไปสร้างบ้านพักอาศัยอยู่กันมากมายหลายร้อยหลังคาเรือน” ซึ่งหมายความว่า ถ้าโรงเรียนต้องการ คงต้องไปไล่ที่ชาวบ้านเอาเอง อันจะเป็นไปได้อย่างไร อ.วรสิทธิ ก็ต้องไปหาที่ใหม่ โชคดี ท่านเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม (ผมไม่ทราบชื่อนะครับ แต่จะหาคงไม่ยาก) ท่านให้ที่ถึง ๒๐ ไร่เหมือนกัน แต่กระทรวงฯ บอกว่าไกลไป ก็เลยต้องมาที่ วัดนาคกลาง ซึ่งน้อยกว่ากันเท่าตัว (จากนี้ ผมขอยกความมาลงไม่ตัดเลย แต่ผมขอความกรุณานิดหนึ่งนะครับว่า อ่านแล้วต้องทำใจเป็นกลาง อย่าโกรธอย่าเกลียดนะครับ ถือเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์) “วันดีคืนดี สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เห็นว่า โรงเรียนทวีธาภิเศกย้ายมาอยู่ที่วัดนาคกลางแล้ว ท่านก็ขอชื่อคืน โดยขอให้โรงเรียนใช้ชื่อใหม่ ไม่ให้ใช้ชื่อทวีธาภิเศกอีกต่อไป เรียกว่าถูกหางเลขเข้าก็คงจะได้ ใครจะเห็นดีด้วยเรื่องอย่างนี้ ก็ได้อาศัยท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์เก่าและมีวัยวุฒิพอ ที่ไปช่วยพูดขอร้องกับ รมต. กระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น ชื่อ ทวีธาภิเศก จึงคงอยู่กับพวกเราตลอดมาจนทุกวันนี้” ทั้งหมดนั้น ผมว่าน่าจะจริงครับ ผู้เขียนเป็นอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง ใช้นามปากกาว่า “ครูเก่า” ตอนแรกผมนึกว่าเป็น อ.พัชรี ปิละมานนท์ แต่พอผมโทรศัพท์ไปถาม ท่านว่าน่าจะเป็น อ.อัมพา พึ่งเกตุ พี่สาวท่านมากกว่า (ถ้าอาจารย์ทั้ง ๒ ท่านเห็น กราบขอโทษอาจารย์ด้วยนะครับที่อ้างถึง) ผมจึงโทรศัพท์ไปเรียนถาม ท่านว่าจำไม่ได้ ต่อเมื่อผมเล่าให้ฟัง ท่านว่า ข้อมูลนี้อาจจะมาจาก อ.ไพโรจน์ เสลานนท์ คุณพ่อของท่าน ดังนั้น อ.วรสิทธิ คงกลัวซ้ำรอย จึงขอให้ เจ้าคุณเทพฯ ท่านทำให้เป็นทางการ หนังสือฉบับนี้ต้องถือเป็น เอกสารสำคัญมาก ของโรงเรียน แต่ไม่มีใครเคยเห็น ไม่มีใครพูดถึง ข้อนี้ก็ มืดบอดสนิท ฉนั้น คำถามของผมคำเดียวเลยครับ Where

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655032358113715/

    ๒๗) เรื่อง เลือนราง ครับ มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งเขียนไว้ว่า “ในงานเสด็จถวายผ้าพระกฐินหลวง เป็นธรรมเนียมที่โรงเรียนจะต้องไปตั้งโต๊ะหมู่บูชา” ผมกราบขอประทานโทษอาจารย์ท่านนั้นก่อนนะครับ คือธรรมเนียมนี้ เขามีกันทั่วไปแต่โบราณนานมาแล้ว แต่ผมพบอีกข้อมูลที่คล้ายกัน คือ จมื่นมานิตย์นเรศร์ (เฉลิม เศวตนันทน์) ศิษย์เก่ารุ่นดึก รูปด้านล่างนี้ เล่าไว้ยาว ผมขอสรุปมานะครับ คุณปู่จมื่นฯ (ผมคงต้องเรียกอย่างนี้ แต่เราไม่ได้เป็นญาติกันเลย พ่อแม่ผมรู้จักลูกท่านคนหนึ่ง เป็นดาราสมัยก่อนนะครับ คุณลุงอ ดี ศักดิ์ ผมจำชื่อท่านได้แม่นเลย เพราะตอนเด็กๆ ท่านมาที่บ้าน ผมไปเปิดประตู แล้วก็ตะโกน “พ่อ ลุง อ ดิ ศักดิ์มา” ตามประสาเด็กนิสัยเสีย พอท่านเข้ามาในบ้าน ก็เรียกผมไปเขกกะโหลกทีนึง “ไอ้หนู ชื่อลุง อ ดี ศักดิ์ ลูก”แล้วให้เงินผม เหมือนจะบาทนึงหรือ ๕ บาทนี่แหละครับ) เล่าว่า “ในพิธีเสด็จทรงถวายผ้าพระกฐินวัดอรุณราชวราราม โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลที่ ๕ ทุกปี เป็นธรรมเนียม นักเรียนทวีธาภิเศกต้องมาตั้งแถวร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีรับเสด็จฯ เคียงโต๊ะที่บูชาจัดแบบจีน มีเงินพระราชทานแจก ลูกบทได้หนึ่งสลึง ต้นบทได้สองสลึงเท่าครู ทั้งได้ยืนหน้าแถวด้วย ท่านเป็นต้นบททุกปี ยืนเด่นอยู่คนเดียว ในหลวงทอดพระเนตรทรงจำได้ เพราะทรงรู้จักคุณพ่อท่าน (พระยาอภิชิตชาญยุทธ) ซึ่งเป็นพระตำรวจหลวง แห่นำเสด็จฯ มา” ผมคิดว่า น่าจะเป็นโรงเรียนเดียว ที่ได้รับเกียรตินี้นะครับ ทั้งการจัดโต๊ะบูชา ก็แปลกอยู่ ขอให้ลองเทียบข้อมูลกันดู แล้วแต่จะเชื่อฝ่ายใดนะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655034464780171/

    ๒๘) ส่วน มาก ขอยกตัวอย่าง อ.สำเนียง (บัวทั่ง) ฟักภู่ นะครับ คือ ผมเคยโทรศัพท์ถามบางเรื่องที่สงสัยกับอาจารย์เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒ เวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ได้คำตอบว่า “จำไม่ได้ ประกิตต้องเอารูปมาให้ครูดู ถึงจะนึกออก แต่เธอต้องไม่ลืมนะว่า ครูเป็นครูทวีธาฯ มา ๓๓ ปี เกษียณอายุมา ๓๐ ปีแล้วนะ” ผมได้สติ เกิดปัญญา วิเคราะห์ไปตามหลักฐานเถิด อย่าลำบากลำบนถึงผู้เฒ่าผู้แก่เลย ต่อเมื่อพบกันในวันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๕ นำรูปไปให้ดู ท่านจึงจำได้ แล้วบันทึก VDO ไว้ด้วย ในวันนั้น เราพูดถึง อ.ผ่อนศรี จำปาเทศ อาจารย์เล่าให้ฟังว่า นั่งหลังอาจารย์ไปโต๊ะหนึ่ง ที่ อาคาร ๒ ให้หลังมา ๓-๔ วัน มีคนนำ Clip อ.ผ่อนศรี อวยพรปีใหม่มาลงใน มิ่ง ขาวปลื้ม (ลองไปหาดูกันครับ) ผมโทรไปบอก อ.สำเนียง แล้วถามว่า ใครอายุมากกว่ากัน อาจารย์ตอบว่า “แกจะแก่กว่าครูซัก ๔-๕ ปี” เป๊ะเลยครับ อาจารย์ผ่อนศรี “๑๐๐ ปี”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655036808113270/

    ๒๙) เมื่อเขียนถึง อ.สำเนียง ผมขอนำเหตุการณ์ประทับใจ ที่เกิดขึ้นเมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว แต่ผมยังรู้สึกเหมือนเมื่อวานนี้เอง มาเล่าสู่กันฟังนะครับ เร็วๆ นี้ มีเพื่อนห้องเดียวกัน กลับมาจาก “เมกา” ท่านถามผมว่า (ขอย่อคำนิดนะครับ ไม่สุภาพ แต่จะแปลง ก็ไม่ได้อรรถรส หวังว่าคงไปขยายกันได้นะครับ) “ฮ. ประกิต อาจารย์สำเนียง ของ ม. นี่ แกดังระดับไหน ว.” ผมตอบท่านว่า “ก. ก็ไม่รู้หรอก ว. แต่จะบอกให้เป็นบุญกะลาบาลโง่ๆ ของ ม. เอาไว้นะ แกดังระดับ สมเด็จพระเทพฯ ถามถึงก็แล้วกัน” รูปใบนี้คือเหตุการณ์ ณ Shot นั้นเลยครับ มีคนเอามาให้ ผมเก็บไว้นานแล้ว ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ ผมเรียน ป.ตรี ปี ๔ ครับ พอ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน (ในรูปนะครับ) รับพานไหว้ครูจากท่านเสร็จ ก็ทูลเลย “กบ มังคะ เป็นลูกศิษย์คุณสำเนียง ร้องเพราะ” เท่านั้น ท่านหันมารับสั่งถามผมว่า “สำเนียงไหน นักร้องใช่มั้ย ทำไมหลังๆ มา หายไป ไม่มาร้องเลยล่ะ ต้องให้มาร้องๆ”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655038794779738/

    ๓๐) มีผู้ถามเรื่องเพลงและสีประจำโรงเรียนมา บางท่านอาจคิดว่า ก็ เพลงมาร์ชทวีธา สีเขียวขาว ที่เรารู้จักกัน แต่จริงแล้วมีเรื่องราวมากกว่านั้นนะครับ แต่แรกผมไม่อยากเขียน เพราะน่าจะมีผู้ที่ทราบดีอยู่แล้ว แต่พอคิดว่า “ผู้ที่ทราบดี” ทั้งหลายนั้น น่าจะมีอายุนำด้วยเลข ๗ ส่วนรุ่นพี่เลข ๖ และเลข ๕ อย่างผม น่าจะไม่ทราบ จึงขอเขียนไว้จะดีกว่า ถ้าท่านใดจะเพิ่มเติม ขอเชิญได้เลยครับ แต่ต้องขอบอกก่อนว่าเป็นข้อมูลประเภท เลือนราง ของ ทวีธาฯ วัดนาคกลาง นะครับ ใน Post นี้ ผมขอเขียนเรื่องเพลงนะครับ เพลงนี้ผมขอเรียกเองว่า “เพลงลูกเจ้าตาก” ครับ เมื่อสมัยผมเรียน ไม่เคยได้ยินเลย มารู้จักเอาเมื่อค้นคว้านี้เองครับ เพราะเนื้อร้องประโยคต้นที่ว่า “ลูกเจ้าตากใจนักกีฬา”นั้น มีผู้อ้างถึงบ่อยๆ แต่ไม่เคยเห็นเนื้อร้องเต็มเพลง จึงไม่ทราบว่าเพลงอะไร ร้องอย่างไร จนพบบนปกหลัง “ทวีธาภิเศก ๐๘” ดังรูปแรกนะครับ ซึ่งถ้านักดนตรีไทยทุกท่านมาเห็น ก็จะต้องบอกว่าเป็น “เพลงมอญดูดาว” แม้ไม่ตรงแบบนัก จนวันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๖ ผมได้โทรศัพท์ถาม อ.ศักดิ์ชัย ทองทิพย์ ท่านอยู่ในรุ่นนั้นครับ ให้ข้อมูลว่า “เป็นเพลงเชียร์มาก่อนมาร์ชทวีธาภิเศกจริง แต่ร้องกันเล่นๆ” ผมขอให้ท่านร้องให้ฟัง ท่านก็ร้องแบบกระดาก เหนียมอายนิดๆ ไม่ค่อยจะเต็มเสียงนัก แต่ฟังเป็น เพลงมอญดูดาว แน่นอนครับ ผมจึงนำมาเขียนเป็นโน้ตไว้ ดังรูปที่ ๒ ท่านใดอ่านได้ ร้องได้ ลองอัดมาฟังกันดูบ้างนะครับ อีกอย่างหนึ่ง ผมเห็นแปลกที่ว่า เพลงนี้ ทำไมไปพ้องกับ เพลงราตรีประดับดาว พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๗ ตรงนี้เป็นเรื่องเฉพาะทางดนตรีไทยเล็กน้อย แต่ลองอ่านดูนะครับ เพลงนี้ของเดิมขาดจังหวะ (หน้าทับปรบไก่) ไป ๔ ห้อง พระปกเกล้าฯ ท่านเติมเข้าไปจนครบ เพลงเรา ผู้แต่งเนื้อเดิม ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครนะครับ ก็เติมเข้าไปจนครบเหมือนกัน แต่คนละที่ ของเราคือตรง “ขวัญใจเราอยู่ที่ธง” ซึ่งร้องซ้ำ ๒ ครั้ง ถ้าร้องครั้งเดียว ขาด ครับ ของ พระปกเกล้าฯ ท่านเติมหลัง “หน่อยเอย” แต่เป็นอีกทำนองหนึ่ง ถ้าไม่มีทำนองนี้ ก็ ขาด เหมือนกัน ผมเล่นดนตรีมานาน เพลงราตรีประดับดาว นักดนตรีไทยรู้จักและเข้าใจเรื่องนี้ดีครับ แต่ของเรา ไม่เคยเห็นที่ไหน ถึงว่าแปลกไงครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655696438047307/

  • เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.2

    เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.2

    ๑๑) เมื่อ Post ที่แล้ว มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง Inbox มาบอกว่า ไม่เห็นตอบเลย พระนามกรมพระสมมตฯ ออกเสียงอย่างไร ผมก็ว่าตอบแล้วครับ ตอบก่อนเลย ท่านว่าให้ผมกลับมาดู ตาย ใจหายวาบ เป็นดังท่านว่าจริงๆ เพราะมัวแต่ Cut ไป Paste มา เลยงง ต้องออกเสียงว่า สม-มด ไม่ใช่ สม-มุด ครับ ดังสำรับพระนามกรมคล้องจองกัน ที่ยกมานะครับ ต้องกราบขอบพระคุณอาจารย์อาวุโสท่านนั้นมากๆ ด้วยนะครับที่ศิษย์พลั้งเผลอไป ขออนุญาตชมว่าท่าน “สกุณาตาดีฉนี้หนอ ไม่เคลื่อนคลอไปตามวัยไฉนเล่า” จริงๆ แล้วก็ต้องขอโทษสมาชิกทุกท่านที่ติดตามนะด้วยครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652579695025648/

    ๑๒) คราวนี้ก็คงต้องว่าด้วย “กรมพระสมมตฯ มาเกี่ยวข้องกับ “ทวีธาภิเศก” ได้อย่างไร” ผมขอยกมา ๒ ข้อ ที่เห็นว่าสำคัญก่อนนะครับ คือผมพบว่า ในฐานะที่ท่านเป็นราชเลขาฯ บ่อยครั้งท่านต้องเขียนพระราชกระแสลงในต้นร่างส่วนพระองค์ ตามที่จะมีรับสั่งบอก ก็คือบอกจดนั่นแหละครับ เมื่อคราวพระพุทธเจ้าหลวงจะบำเพ็ญพระราชกุศล พระชนมายุสมมงคล เสมอด้วยพระพุทธเลิศหล้าฯ ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ดังรูปข้างล่าง โปรดเกล้าฯ ให้พระราชนัดดาในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งก็รวมพระองค์ท่านด้วย มาฉายพระรูปร่วมกันหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) เวลาบ่าย ๒ โมง โปรดให้ พระเจ้าบรมวงษเธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระพุทธเลิศหล้าฯ ที่เหลืออยู่เพียงพระองค์เดียวในขณะนั้น ประทับพระราชอาสน์ตราแผ่นดินเป็นประธาน พระพุทธเจ้าหลวงทรงฉลองพระองค์ราชปะแตนสีขาว ประทับพระเก้าอี้ ลำดับที่ ๔ เบื้องซ้ายพระเจ้าบรมวงษเธอ องค์ประธานครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652677171682567/

    ๑๓) ในการนั้น จะต้องมีพระธรรมเทศนา ๒ กัณฑ์ พระธรรมกถึกทั้ง ๒ รูป จะต้องถวายร่างขึ้นมาเพื่อทอดพระเนตรก่อน ร่างของ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส ผ่านครับ แต่อีกร่างหนึ่งของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ ธมฺมสิริ) เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม (รูปด้านล่างนี้นะครับ) เชื่อไหมครับว่า ตลอด ๑๓ หน้า ไม่มีที่ตรงไหนเลยกล่าวถึงโรงเรียนเรา ก็เป็นที่เข้าใจ เพราะผมพบหลักฐานหนึ่งเป็นหนังสือ ขุนประการวุฒิสิทธิ เจ้าพนักงานจัดการแขวงตะวันตกใต้ ลงวันที่ ๘ มกราคม ร.ศ.๑๓๑ (วันพุธ พ.ศ.๒๔๕๕) มีความเรียน พระยาศึกษาสมบูรณ์ เจ้ากรม กรมศึกษาธิการ ว่า “ท่านก็ไม่สู้จะยินดีในทางโรงเรียนภาษาไทยด้วย” คือท่านคงโปรดโรงเรียนบาฬีนักธรรมมากกว่า

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652679031682381/

    ๑๔) พระพุทธเจ้าหลวงท่านไม่ว่าอะไรเจ้าคุณสมเด็จฯ เลยนะครับ คงทรงเห็นว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่ แต่โปรดเกล้าฯ ให้ในกรมเข้ามาแก้ใหม่ ตามแต่จะมีรับสั่ง ต้นฉบับที่แก้นี้ ผมพบเพียง ๕ หน้า แต่ที่ดีใจและปลื้มใจที่สุดก็คือ ทรงบอกให้จดเพิ่มเข้าไปว่า “ให้สร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดอรุณราชวรารามด้านเหนือ เปนตึกใหญ่ พระราชทานนามว่า โรงเรียนทวีธาภิเศก ตั้งอยู่ ณ กาลบัดนี้” ต้องขอบอกก่อน โรงเรียนเราเริ่มสร้าง พ.ศ.๒๔๔๑ แล้วเสร็จ พ.ศ.๒๔๔๕ ให้หลังจากช่วงนั้น เวลาล่วงไปกว่า ๑๑ ปีแล้วนะครับ ยังทรงนึกถึงโรงเรียนเราได้ นี่คือประการแรก อีกประการหนึ่ง ในกรมทรงจดไว้ชัดเจนว่า “ทวีธาภิเศก” ท่านจะจดนอกเหนือรับสั่ง คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ผมว่าเราคงใช้มาถูกต้องแล้วล่ะครับ ต้นฉบับอาจลางเลือนนิดหนึ่ง พยายามอ่านกันนะครับ ลายพระราชหัตถ์อยู่ท้ายหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา รูปที่ ๑ แต่ไม่พอ ท่านมาทรงต่อด้านหลัง คือรูปที่ ๒ ครับ ส่วนรูปที่ ๓ เป็นลายพระหัตถ์ในกรม เรื่องโรงเรียนอยู่หัวกระดาษเลยครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652683481681936/

    ๑๕) เรื่องศัพท์แสงคงจบแล้วนะครับ จากนี้ ขอเล่าเรื่องการค้นคว้าต่อไป ผมเริ่มกลับมาโรงเรียนอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานคืนสู่เหย้า วันเสาร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ครับ รุ่งขึ้นผมเริ่มเลย ด้วยหนังสือ ๒ เล่ม ที่เก็บไว้แต่สมัยโน้น คือ “๘๔ ปี และ ๙๐ ปี ทวีธาภิเศก” ครับ จากนั้น ก็ไปที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเดินเข้าออกมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ นะครับ ผมยังเก็บบัตรอนุญาตที่เป็นกระดาษชุดสุดท้าย รวมทั้งของ หอสมุดแห่งชาติ ด้วย ไว้เป็นที่ระลึก ก่อนเขาจะทำเป็นบัตรแข็ง เพื่อเข้าระบบ Computer ครับ ตลอด ๑ ปีเต็มที่ไปค้นคว้า ผมไม่เสียเงินเลย หากใครเคยไป จะทราบว่า การ Copy เอกสาร ไม่ว่ารูปแบบใด แพงมากครับ ผมเองไม่มีงานประจำทำ ก็ควรประหยัดเงินไว้หน่อย ใช้วิธีเอา Notebook ไปนั่งลอกข้อมูลมา จนสำเร็จลงในวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3653084474975170/

    ๑๖) เพื่อทำ Literature Review (มีคนแปลว่า สำรวจวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ดูยิ่งใหญ่ไปหน่อย ขอใช้คำฝรั่งแล้วกันครับ) จึงตัดสินใจไปห้องสมุดโรงเรียน ในวันพุธที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาไม่น้อย ที่สำคัญคือเล่มที่นำมาลงนี้นะครับ อ.วรสิทธิ อินทาปัจ เรียบเรียง “พิมพ์ขึ้นเนื่องในงานทำบุญวันเกิดของโรงเรียนครบรอบ ๕๕ ปี วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐” (วันเสาร์) ครับ แรกเห็น ผมจำได้เลย เมื่อเรียนอยู่ ม.ต้น ทั้ง ๓ ปี ห้องเรียนผมอยู่ที่ อาคาร ๕ ชั้นบน เพียงห้องเดียว แล้วก็มี ห้องสมุด บรรณารักษ์คือ อ.ส่องศรี สนธิวรรธนะ (รูปนี้ถ่ายที่ห้องสมุดนั้นแหละครับ มาจาก อนุสรณ์ทวีธาภิเศก พ.ศ.๒๕๑๔ ครับ) ท่านหยิบจากในตู้มาให้อ่าน ตอนนั้น เห็นเรียงรายเหมือนแถวทหารเป็นหลายสิบเล่ม แต่ตอนนี้ ครูเร บรรณารักษ์ท่านปัจจุบันบอกว่า “เหลือเพียงเล่มนี้ เล่มเดียวเท่านั้น” แถมยังชำรุดมากด้วยครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3653087831641501/

    ๑๗) เมื่อกล่าวถึง อ.วรสิทธิ ผมขอใช้ Post นี้เขียนเพื่อรำลึกถึงท่านนะครับ เมื่อเรียน ผมเป็นนักดนตรีไทยครับ เห็นท่านมาเล่นดนตรีด้วยบ่อยๆ ในวงอาจารย์ ซึ่ง อ.สำเนียง บัวทั่ง ต้องเกณฑ์ให้พวกเราเข้าสมทบด้วย รูปนี้น่าจะราว พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๒๕ จำไม่ได้แน่ แต่อาจารย์ ผมจำได้ทุกท่านครับ จากซ้าย อ.สงบ สวนสิริ สีซออู้ อ.ประยูร ฟักภู่ ตีระนาดเอก อ.วรสิทธิ สีซอฝรั่ง Violin นั่นแหละครับ สมัยโน้นเรียกอย่างนี้ อ.พจนีย์ บุญประคอง ตีระนาดทุ้ม หลังผมจบไปหลายปีแล้ว อ.ศรีนคร หอมสุวรรณ ลูกสาวท่าน ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ม.๑/๓ และสอนภาษาไทยผม ยังมาตามผมไปสอนดนตรีให้ลูกท่าน ผมก็ยังได้ไปกราบ อ.วรสิทธิ อีกหลายครั้งที่บ้านซอยพณิชย์ธน จำเลือนลางว่า บางแวก หรือ วัดปากน้ำ อย่างไรนี่ครับ ดูก็คิดถึง ๔๐ กว่าปีแล้ว ทุกท่านจากผมไปหมด เว้นแต่ อ.สำเนียง ปัจจุบันท่านอายุ ๙๔ ปีครับ ไปอยู่กับลูกสาวที่เชียงใหม่ ผมยังติดต่อได้ เมื่อ ๒ วันที่แล้ว รุ่นน้องโทรมาบอกว่า ท่านเดินไม่ค่อยไหว หูก็ไม่ค่อยได้ยินแล้วครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3653091644974453/

    ๑๘) จากนั้น ผมมานั่งคิดว่า อย่างน้อย เราต้อง Print Microfilm ออกมา เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ต้องคิดหนัก เพราะอย่างที่ว่า หน้าละ ๑๐ บาทนะครับ เชื่อไหมครับ มีรุ่นน้องไปอยู่อเมริกาหลายปีดีดัก จนไม่คิดว่าจะพบกันแล้ว ช่วงนั้น เขากลับมาเยี่ยมบ้านพอดี แล้วทราบเรื่อง เขาว่า “ทำไปเลยพี่ประกิต ขาดเหลืออะไร เท่าไร บอกผม เดี๋ยวผมจะจัดรถมารับส่งให้ด้วย” นี่คงเป็น พระบารมี แรกที่ผมได้รับ ผมขอเพียง ขาดเหลือ เท่านั้น ส่วน รับส่ง ผมปั่นจักรยานจากบ้านข้ามสะพานซังฮี้ไปได้ ผมก็เลยต้องทำบัตรขออนุญาตปีต่อปีมาเยอะมาก ดังที่เห็นนี่ครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3653099494973668/

    ๑๙) มีผู้ถามเรื่อง ตึกรัชดา ผมขออธิบายดังนี้ครับ ตึกนี้ก็คือ ตึกพิทยลาภพฤฒิธาดา ของเราปัจจุบันนี่แหละครับ เดิมจะตั้งชื่อดังนั้น เพราะกำหนดแล้วเสร็จ จะตรงกับ พระราชพิธีรัชดาภิเษก ฉลองศิริราชสมบัติ ๒๕ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่แล้ว พ.ศ.๒๕๑๔ ครับ แต่ภายหลัง โรงเรียนคงไปกราบทูลเชิญ พระวรวงษเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) พระโอรส พระเจ้าบรมวงษเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา องค์อธิบดีสร้างโรงเรียนเรามาเปิดตึก ไม่ทราบว่าไปตกลงกันอย่างใด พระองค์ธานีฯ ประทานชื่อตึกตามพระนามเสด็จพ่อท่าน จึงใช้กันสืบมาจนปัจจุบัน ชื่อ ตึกรัชดา ก็เลยถูกลืมไป ถามคนเก่าๆ ในโรงเรียน ยังไม่รู้จักกันเลยครับ ไม่ต้องพูดถึงคนเดี๋ยวนี้ บางท่านว่าเป็นตึกที่ทุบไปแล้ว ไม่ถูกต้องครับ ผมมีรูปให้ดู จาก อนุสรณ์ทวีธาภิเศก ๒๕๑๔ ขอให้สังเกตว่า ยังไม่มีชื่อและนาฬิกาที่หน้าตึกเลยนะครับ (มีสมาชิกท่านหนึ่งบอกว่า ขอให้ทำคำบรรยายในรูป เพราะบาง Post มีหลายรูป ตอนแรกผมก็ว่าจะทำ แต่ไปมา รู้สึกว่าจะทำให้รูปเสียงามไป เผื่อท่านใดนำไปใช้ จะได้ไม่มีอะไรมาบัง ขอให้อ่านใน Post อย่างละเอียด ก็คงจะเข้าใจครับว่ารูปไหน)

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654291428187808/

    ๒๐) เมื่อพูดถึง “ตึกพิทย์” ผมขอเพิ่มเติมข้อมูลและรูปหน่อยนะครับ ก่อนสร้างตึกนี้ บริเวณเดิมดูคล้ายมีโรงเรือนอะไรไม่ทราบตั้งอยู่ ดังรูป ซึ่ง Four in One เลยครับ ผมวาง Scan ทีเดียวเลย ๔ ใบ ๒ ใบบน เห็น อาคาร ๒ อาคาร ๓ ชัดเจน หวังว่าพี่ๆ คงจำได้นะครับ ผมเอง ทันก็ อาคาร ๓ เท่านั้น

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3654301224853495/

  • เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.1

    เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.1

    เรียนอาจารย์และพี่ เพื่อน น้อง ทุกท่านครับ ขอขอบพระคุณที่ Admin Page รับผมเข้าเป็นสมาชิกคนล่าสุด (น่าจะลำดับที่ ๑๑,๕๘๘) ในวันพุธที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๑๕.๓๒ น. ผมเพิ่งสมัคร FB เมื่อเวลา ๒๐.๕๙ น. คืนวันจันทร์ที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ นี้เอง ผมเข้าเรียนชั้น ม.๑ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ รุ่น ๙๐ ครับ เหตุที่ต้องมาขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้ ต้องย้อนกลับไปไกลหน่อย คือ เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๐ ไม่ทราบว่ามีอะไรมาดลใจให้เรียบเรียงประวัติโรงเรียนขึ้น จนปัจจุบันคิดว่าเป็นเวลาสมควรแล้วที่จะต้องเผยแพร่ลงในสื่อสังคม On Line ทั้งนี้ มิได้มีผลประโยชน์แอบแฝงใด ทำด้วยใจรักในงานวิชาการเท่านั้น ซึ่งขอคุยหน่อยว่า มีเพื่อนรุ่นเดียวกันมายอ “เหนือนายขึ้นไป ๙ ชั่วคน แล้วลงไปอีก ๙ ชั่วคน ก็ยังไม่เคยมีใครทำ” ขอเชิญสมาชิกทุกท่านลองเข้ามาอ่าน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่ “ลูกหลานทวีธาภิเศก” ของเราต่อไป ผมจะพยายามทยอยลงตามแต่เวลาและโอกาศสมควร ขอบพระคุณมากครับ ดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งใน “ลูกทวีธา” แม้เพียงเสียงน้อยๆ เสียงหนึ่ง สวัสดีครับ

    ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651351661815118/

    หนังสืออนุสรณ์ 90 ปี ทวีธาภิเศก

    เหนืออื่นใดที่ผมต้องเทิดไว้เหนือเกล้าฯ ก่อนคือสิ่งนี้ครับ มาจาก Post ของ ครูมิ่ง ขาวปลื้ม ซึ่งต้องขอบคุณท่านมาก ที่กรุณาให้ Credit ผม และ ครูนพรัตน์ รัตนวิชัย ที่คงตกแต่ง จนรูปออกมางามเช่นนี้ หลายท่านคงผ่านตามาบ้างแล้ว เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของโรงเรียนชิ้นที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดครับ เมื่อแรกพบ ผมยกมือไหว้ไปที่เครื่องอ่าน Microfilm ตรงหน้า ด้วยความปีติ ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้เห็น ทั้งยังภูมิใจว่า เราคงเป็นคนแรก แทบไม่เชื่อทั้งตาและใจตนเอง แล้วก็น่าแปลกว่า ยามใดที่เกิดมรสุมกับงานค้นคว้า ถ้านำพระราชหัตถเลขาฉบับนี้มามอง มานั่งอ่านจะเกิดกำลังใจทำงานต่อไป แม้มรสุมนั้นยังไม่คลายไปครับ

    ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651900058426945/

    พระราชหัตถเลขา ร.5 พระราชทานชื่อ โรงเรียนทวีธาภิเศก

    ๓) รูปใน Post ที่ ๒) ฉบับจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นนะครับ ผมมาตัดแต่งเอง เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากรูปข้างล่างนี้ ใน “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก” ครับ ถ้าใครทันยุคผม คงคุ้นชื่อ อ.ประพนธ์ รอดเรืองงาม อ.เธียรชัย อิ้งจะนิล และ อ.เทวินทร์ ทิศานุพัฒน์ บ้างนะครับ ในสายตาเด็กอย่างผม ท่านช่าง ‘tist กันไปท่านละแบบ คงเป็น ๑ ใน ๓ ท่านนี้แหละครับ ที่เขียนอักษรประดิษฐ ผมประทับใจมาแต่เด็ก จึงเลียนแบบท่านมาลองทำ แล้วลงเป็นหน้าแรกในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ สำหรับพระราชหัตถเลขาฉบับจริงมีหลายหน้านะครับ ตอนท้ายก็มิได้ทรงไว้ว่าอะไร ผมจึงตัดมาเฉพาะความที่พระราชทานนามโรงเรียน แล้วอัญเชิญมาพระบรมนามาภิไธยมาใส่ไว้ จากที่เคยศึกษาพบว่า หากเป็นงานราชการจะทรงว่า “สยามมินทร” แต่ส่วนพระองค์ จะใช้พระนามเดิมดังใน Post นั้นครับ

    ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651908911759393/

    ๔) รูปใน Post ที่ ๒) นั้น Print จาก Microfilm ครับ รูปนี้คือฉบับจริง เป็นลายพระราชหัตถ์ มี ๕ หน้า มาจาก กรมราชเลขานุการในรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันเก็บไว้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ครับ ซึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๖๔ ผมขอมาดู สภาพแย่มาก ต้องใส่ถุงมือค่อยๆ หยิบจากแฟ้มที่เย็บรวมกันเหมือนข้อสอบ เจ้าหน้าที่บอกว่า “นี่เห็นอาจารย์เป็นแฟนเก่านะคะ ถึงให้ดู ปรกติไม่อนุญาตทุกกรณีค่ะ” เมื่อดูเสร็จ เขาจะมี Box ให้เก็บ รอเวลา ๒-๓ วันไป Scan ตามคิว ซึ่งก็คนละหน่วยงานกันอีก ห้องเอกสารคือ ห้องกรมหลวงพิชิตปรีชากร ห้อง Scan คือห้องรูป หรือ ห้องบุรฉัตร ซึ่งก็โดนแซวอีก แต่ก็ยอมโดยดี มีเงื่อนไขว่า ต้องมาค้นคว้าทุกสัปดาห์ (ใครจะไปทำได้) เพราะหายไปนาน ช่วงรอนั้น ผมได้ชวน ครูปาล์ม พนธกร สุขประเสริฐ หัวหน้างานพิพิธภัณฑโรงเรียน ไปดูให้เห็นกับตา เพราะเจ้าหน้าที่ห้องบุรฉัตรบอกว่า “สงสัย Scanเสร็จ คงต้องส่งซ่อม ค่าซ่อมต้องมาเบิกกับอาจารย์นะคะ” ตอบเธอไปว่า ขอเลี้ยงส้มตำวัดเทวราชฯ ข้างๆ นี่แทนก็แล้วกัน ครูปาล์มคงมัวเยี่ยมบ้านน้องนักเรียนอยู่ จึงไปไม่ทัน แต่ก็ได้เห็นเอกสารชุดอื่นที่ผมขอไว้ ต้องเรียนสมาชิกทุกท่านว่า คงเป็นด้วยพระบารมี เพราะการซ่อมนั้น ต้องเอากระดาษสาปะเข้าไปกับตัวเอกสาร ทำให้ความคมชัดลดลงอีก ที่ผมได้มานี้ คือ Scan ตรงจากเอกสาร ไม่ผ่านกระดาษสา ดังนั้น ความคมชัดจึงเทียบเท่าต้นฉบับครับ หลังจากนี้ คงเก็บอย่างเดียว ไม่เอาออกมาให้บริการ ขอนำหน้าแรกมาลงให้ดูก่อน เมื่อถึงความที่เกี่ยวข้อง จะนำมาลงเต็มครับ

    ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3651931535090464/

    ๕) มีสมาชิกท่านหนึ่งถามเรื่องศัพท์ “ทวีธาภิเศก” จริงแล้ว ผมเคยคิดว่าน่าจะอธิบายเสียก่อน แต่เป็นเรื่องยาว ทั้งยากเข้าใจ จึงขอผ่านไปก่อน คิดว่าหากมีท่านใดปุจฉามา ค่อยวิสัชนาจะดีกว่า บัดนี้คงถึงเวลาแล้ว จะพยายามลงเป็นตอนสั้นๆ อธิบายให้ง่ายที่สุด ลองติดตามอ่านดูนะครับ รูปด้านล่างนี้ น่าจะเป็นต้นแบบการสร้าง เหรียญทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงษเธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงออกแบบ เป็นลายพิมพ์ผ้ากราบถวายพระในงานพิธีครับ ขอให้สังเกตว่าสะกด “ทวิธาภิเสก” สระ  ลากต่อจาก หาง (บางท่านเรียก หัว ไม่ถูก เพราะตรงนี้เรียกตามปัจจุบันสมัยว่า จุดยกปากกา คือ สิ้นสุดการเขียน) ธ นะครับ คนเก่าๆ จึงมักเรียก “ลากข้าง” ตัวสะกดนี้ น่าจะเป็นทางการครั้งแรกครับ แล้วผมคิดว่า ต้องผ่านสายพระเนตรพระพุทธเจ้าหลวงแน่นอน

    ที่มา https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652111558405795/

    ๖) ปัญหาแรกคือ ทวิ หรือ ทวี กันแน่ ศัพท์นี้ คำแรกมาจากบาฬีครับ ความหมายเดียวกับ Twice หรือ สอง คำหลังไทยเอามาใช้ กลายความหมายเป็น Plus หรือ เพิ่ม พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงใช้ ทวิ ทุกแห่งตามบาฬี แต่นักปราชญ์อีก ๒ ท่าน คือ พระเจ้าบรมวงษเธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ ซึ่งทรงเป็น เปรียญฆราวาส พระองค์แรก และ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงใช้และใช้ ทวี ทุกแห่งอย่างไทยครับ (รูปนำมาลงพักสายตาครับ น่ารักดี มีผู้ใหญ่ที่ทราบความเคยทรงเล่าให้ผมฟังว่า เวลาทรงพระอักษร ไม่ทรงฉลองพระเนตร โปรดใช้แว่นขยายส่องเอาอย่างนี้ครับ แล้วยังโปรด “ผทมอ่าน” อีกด้วย ในรูปเห็นหมา (ท่านไม่เรียกสุนัขครับ) ที่ท่านทรงเลี้ยงไว้ ๒ ตัว รูปนี้อัดจากฟิล์มกระจก น่าจะถ่ายบน พระที่นั่งอุทธยานภูมิเสถียร องค์เก่า ไฟไหม้ไปแล้ว)

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652126175071000/

    ๗) ปัญหาต่อไปไม่ยากครับ คือ เศก หรือ เษก กันแน่ ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า  นั้น เข้าใจว่าเป็นของไทย คำเก่าๆ ใช้  ทั้งนั้น เช่น ศุข ศิริ ศีล โอกาศ  มาจากบาฬี และ  มาจากสํสกฤต ที่ปัจจุบันนิยมใช้ เษก ก็มาจากสํสกฤต ดังนั้น ทั้งพระพุทธเจ้าหลวง กรมพระสมมตฯ เจ้าพระยาภาสฯ ทรงใช้และใช้ ศ ตรงกันหมด มีกรมหมื่นปราบฯ อยู่องค์เดียว ใช้ ส ตามบาฬี แต่ถ้าไปเปิดดูพจนานุกรมปัจจุบัน ไม่ว่าฉบับไหนๆ ทวีธาภิเษก ทั้งนั้นครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652137978403153/

    ๘) เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมขอให้เราลองใช้ทัศนะอย่างอดีต มองกลับไปในอดีต ซึ่งไม่มีราชบัณฑิตมาคอยชี้ขาดผิดถูก สมัยโน้น การสะกดตัวเป็นไปตามปัจเจกบุคคลครับ ศัพท์ “ทวีธาภิเศก”ที่ผ่านสายตาของผม มีหลากหลายตัวสะกด เมื่อราว ๓๐ กว่าปีก่อนโน้น ผมเริ่มค้นคว้างานทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ก็มีความคิดเช่นนี้ แต่ปัจจุบัน ผมไม่กังวลเลย ผมใช้ตามหลักฐานอ้างอิง เขาใช้ตัวอะไรมา เราก็ใช้ไปตามนั้น บางครั้งก็ผันผวนตัวสะกดเอาเอง จนรุ่นน้องที่เอกภาษาไทยบอกว่า “แม้ปวดหัว หาคำอธิบายไม่ได้ แต่ก็แปลกประหลาดและดูเท่ห์ดี” สิ่งที่ผมภูมิใจก็คือ ตั้งแต่งานชิ้นแรกของผมตีพิมพ์ คงในราว พ.ศ.๒๕๓๑ ผมได้รับคำชมมาตลอดว่า “การใช้ภาษาไทยดีมาก” (อาจจะยกตัวไปหน่อย) แม้ในงานค้นคว้าทวีธาฯ นี้ มรสุมลูกสุดท้าย ก็ยังชมว่า ผมใช้ภาษาดี อ่านเพลิน ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อยนะครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652146468402304/

    ๙) หวังว่าคงตอบปัญหาทั้งหลายได้บ้างนะครับ ตอนนี้ก็ใกล้จะสองยามเต็มที ผมคิดอยู่นานว่าจะ Post ตอบดีไหม แต่ทำอย่างไร ก็นอนไม่หลับ จึงต้องลุกขึ้นมาทำ ขอจบด้วย Post ที่ Copy มานะครับ Post นี้เป็นของ พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักวัดมหาธาตุ ราชบุรี ผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ พ.ศ.๒๔๔๖-๒๔๔๘ (อ.บัญชา ท่านนายกสมาคมฯ รู้จักครับ) ซึ่งผมขออนุญาตเรียกท่านว่า อ.มหาทองย้อย อธิบายศัพท์ ทวีธาภิเษกอย่างพิศดาร ท่าน Post ให้ในวันเกิดของผม วันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๔ แต่อาจอ่านยากอยู่บ้าง ท่านใดไม่ไหว Drag ผ่านไปเลยครับ แต่ก็อยากให้ลองอ่านดู สู้ๆ นะครับ จบ Post นี้ ผมคงหายหน้าไปนานหน่อย กลัวสมาชิกจะเบื่อเอา ขอลงรูปฝีมือ ครูเหม เวชกร (คุณพ่อผมเคยเรียนวาดเขียนกับท่านครับ) พักสายตาเช่นเคย บรรยากาศในรูป เหมือนประชุมทางวิชาการที่เราทำอยู่เลย แล้วผมว่า พวกเราก็เหมือนลูกหลาน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ท่านนะครับ เกิดมาได้ ก็เพราะท่าน จริงไหมครับ

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652157658401185/

    ๑๐) ว่าจะพักการ Post สัก ๒-๓ วัน พอดีมีลูกศิษย์ Inbox เข้ามาถามว่า พระนาม “กรมพระสมมตฯ” จะให้ออกเสียงอย่างไร เรื่องนี้ผมเคยเรียนถาม ผศ.พญ.ม.ล.ดาลัด สวัสดิกุล เพราะในกรมเป็นเสด็จทวดของท่าน แล้วผมก็เอาที่ท่านตอบกับหลักวิชามาผสมกัน คือ ถ้ารู้หลัก เข้าใจง่ายมาก ผมก็บอกไป ลูกศิษย์ว่า ต้องเขียนด้วย ขอเร็วด้วย ตามนั้น เพราะเขารู้ว่าผมอยู่ในโลก Cyber แล้ว ก็ใช้ใหญ่ เสร็จก็นึกถึงประโยชน์ของ “ลูกทวีธา” จึงขอนำมา Post ด้วย กลัวลืม เพราะในกรมพระองค์นี้ ท่านมีบทบาทสำคัญเรื่องตัวสะกด “ทวีธาภิเศก” แต่ก่อนอื่น ขอบอกหลักก่อน เผื่อจะเป็นประโยชน์ครับ นเรศวรฤทธิ์ พิชิตปรีชากร อดิศรอุดมเดช ภูธเรศธำรงศักดิ์ ประจักษ์ศิลปาคม พรหมวรานุรักษ์ ราชศักดิ์สโมสร ทิวากรวงษ์ประวัติ ศิริธัชสังกาศ สรรพศาสตรศุภกิจ สรรพสิทธิประสงค์ เทวะวงษวโรปการ วชิรญาณวโรรส สมมตอมรพันธุ์ วิวิธวรรณปรีชา พงษาดิศรมหิป นราธิปประพันธ์พงศ์ ดำรงราชานุภาพ พิทยลาภพฤฒิธาดา นริศรานุวัดติวงศ์ มรุพงศ์ศิริพัฒน์ สวัสดิวัฒนวิศิษฎ์ มหิศรราชหฤทัย คงพอเข้าใจนะครับ ทั้งหมดนี้คือพระนามเมื่อทรงรับกรม เรียงตามพี่น้องเลย บางท่านอาจว่าขาดไป ๒+๒ คือ มเหศวรศิววิลาส วิษณุนารถนิภาธร และ พิฆเนศวรสุรสังกาศ พินิตประชานารถ นั้นอยู่กันคนละสำรับครับ จึงไม่คล้องจองกัน ๒ แรก คือพระราชโอรสที่ประสูติก่อนทรงพระผนวช ๒ หลัง คือพระองค์เดียวกัน ผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนเรานี่แหละครับ รูปด้านล่างนี้มี Story นะครับ ผมต้องไปค้นหนังสือ แล้วลอกมาให้อ่านกัน คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานคำบรรยายไว้ว่า “ข้าพเจ้าทูลว่า อยากจะฉายพระรูปกรมพระสมมตฯ โดยฐานที่เปนสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณอิกสักรูป ๑ ก็เต็มพระไทย จึงเสด็จมาให้ถ่ายที่บ้านข้าพเจ้า เมื่อต้นปีฉลู พ.ศ.๒๔๕๗ ข้าพเจ้าได้ถ่ายพระรูปนี้เอง พัดเปรียญที่ตั้งไว้ในรูปมิใช่เครื่องประดับ เปนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ทรงตั้งกรมพระสมมตฯ เปนเปรียญ โดยเหตุกรมพระสมมตฯ ได้แปลหนังสือนิบาตชาดกถวาย เมื่อปีมโรงฉศก พ.ศ.๒๔๔๗”

    https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3652551685028449/