๓๑) เรื่อง สีประจำโรงเรียน ผมขอนำข้อเขียนของ พล.ร.ท.วิเชียร สังกรธนกิจ (รูปด้านล่าง ท่านสกุลเดิม เกษมุกดา แล้วเปลี่ยนมาใช้ราชทินนามคุณพ่อท่านครับ ที่ผมหามา ท่านเข้าเรียนชั้น ม.๑ พ.ศ.๒๔๗๓ สำเร็จชั้น ม.๖ พ.ศ.๒๔๗๙ ปีการศึกษา ๒๕๗๘ แต่ในนี้ ท่านว่าเรียนตั้งแต่ ป.๑ ก็ต้องนับย้อนลงไปอีก ๔ ปี คือ พ.ศ.๒๔๖๙ จบชั้น ป.๔ พ.ศ.๒๔๗๒ ปีการศึกษา ๒๕๗๑ ผมคิดว่าคนยุคนั้น น่าจะไม่อยู่กันหมดแล้วนะครับ) ใน “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒” มาลงเต็ม ท่านเล่าไว้ดังนี้ครับ “ผมได้รับการบอกเล่าจากท่านผู้อำนวยการฯ และอาจารย์ ๒-๓ ท่านว่า เสื้อกีฬาของโรงเรียนได้เปลี่ยนจากสี “น้ำเงิน เหลือง ชมพู” เป็นสี “เขียว-ขาว” อย่างเดิมแล้ว ผมได้ทราบด้วยความแปลกใจว่า เมื่อครั้งผมเป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนนี้ ตั้งแต่ชั้นประถม ๑ จนถึง ม.๖ (ม.ศ.๓ ในปัจจุบัน) เสื้อกีฬาและธงกีฬาของโรงเรียน ใช้สี “เขียว-ขาว” ตลอดมา และจำได้คลับคล้ายคลับคลา ว่ามีตราพระปรางค์วัดอรุณฯ ติดที่มุมธงและอกเสื้อด้วย ผมเป็นนักกีฬาคนหนึ่งของโรงเรียน ในสมัยนั้น กีฬาที่มีชื่อเสียงของโรงเรียนก็คือบาสเก็ตบอล ซึ่งกรมพลศึกษาเป็นผู้จัดการแข่งขัน และกีฬาแข่งเรือ ซึ่งกองทัพเรือจัดในงานรัฐธรรมนูญ ผมเป็นผู้ร่วมเข้าแข่งขันด้วยผู้หนึ่ง ใช้เสื้อกีฬาและธงกีฬาเป็นสี “เขียว-ขาว” อย่างแน่นอน นอกจากเสื้อกีฬาดังกล่าว การแข่งขันกีฬาประจำปีของกรมพลศึกษา พวกเราก็ใช้เสื้อ “เขียว-ขาว” ผมได้มีโอกาสสอบถาม นาวาเอกทวี พันธุ์โภคา ศิษย์เก่ารุ่นน้องของผม ได้รับคำตอบว่า เดิมใช้เสื้อกีฬา “เขียว-ขาว” แน่และมาเปลี่ยนเป็นใช้สี “น้ำเงิน เหลือง ชมพู” เข้าใจว่าจะเนื่องจากการรวมโรงเรียนอมรินทรโฆษิตเข้าด้วยกัน ฉะนั้น การที่โรงเรียนได้ใช้สีเขียว-ขาวเป็นสีกีฬาของเราในปัจจุบันนี้ จึงนับว่าเป็นการถูกต้องที่สุดและผม ในนามของศิษย์เก่ารุ่น D.T.M. รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากว่า นักกีฬาของโรงเรียนทวีธาภิเศก ได้มาใช้สีกีฬา “เขียว-ขาว” เป็นสัญญลักษณ์ของการกีฬา เช่นเดียวกับที่ผมและนักกีฬาอื่นๆ ได้เคยใช้มาเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว” น.อ.ทวี นั้น ท่านเข้าเรียนชั้น ม.๑ พ.ศ.๒๔๘๕ รุ่นเดียวกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ครับ ส่วนการรวมโรงเรียนก็คือ ในคืนวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ โรงเรียนอมรินทรโฆษิต ซึ่งรวมมาจาก โรงเรียนวัดอมรินทร์ และ โรงเรียนโฆษิตสโมสร ถูกระเบิดเพลิงทำลาย กระทรวงจึงมีคำสั่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ให้ยุบมารวมกับโรงเรียนเราครับ สำหรับชื่อ “รุ่น D.T.M” ท่านคิดขึ้นเอง มาจาก Dinosaur Turtle Million Years ไดโนเสาร์เต่าล้านปี ครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655766141373670/
๓๒) จากหลักฐานชิ้นที่แล้ว ทำให้ทราบว่า แต่ดั้งเดิมเราใช้ สีเขียวขาว มานะครับ จากนี้ผมมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง อ.วรสิทธิ เขียนไว้ใน “๕๕ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๐๐” อยู่ใน Post ที่ ๑๖ แต่ผมเอาหน้าปกมาลง จะได้นึกออก สมาชิกไม่ต้องไปหานะครับ แล้วก็จะลงไม่ตัดเช่นกัน อันนี้เป็น File รูป แต่น่าจะอ่านง่าย ลองอ่านดูกันนะครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655767711373513/
๓๓) จะเห็นได้ว่า เมื่อมาอยู่ วัดนาคกลาง เรามีธงโรงเรียน “น้ำเงิน เหลือง ชมพู” ซึ่งต้องใช้เป็นสีประจำโรงเรียนด้วย ผมว่าไม่ใช่อื่นไกลเลย อ.วรสิทธิ นี่แหละครับ น่าจะเป็นผู้เปลี่ยนแทน สีเขียวขาว ซึ่งท่านน่าจะไม่ทราบความหมาย แต่ “การรวมโรงเรียนอมรินทรโฆษิตเข้าด้วยกัน” แล้วเป็นเหตุให้เปลี่ยนสีนั้น ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะสัมพันธ์กันจริงหรือไม่ แต่ทั้ง ๓ สีนี้น่าจะใช้มานาน ดังรูปปกหนังสืออนุสรณ์ ๒ เล่มที่ผมนำมาลงนะครับ แล้ว“ท่านผู้อำนวยการฯ” ผู้เปลี่ยนกลับเป็น สีเขียวขาว ที่ พล.ร.ท.วิเชียร ว่าไว้ ก็ไม่ใช่อื่นไกลเหมือนกัน อ.สำเริง นิลประดิษฐ์ เรานี่เองครับ คงจะเปลี่ยนพร้อมกับตราประจำโรงเรียน ที่เดิมใช้ รูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม นะครับ ตราเดิมนี้ นักเรียนรุ่นเก่าๆ ใช้เป็นเข็มกลัดปักอกเสื้อด้วย ดังรูปที่นำมาลงนะครับ ผมถ่ายจากหน้า FB ของพี่ อาฮุย ตอนนั้น ผมยังไม่มีโลก Cyber ครับ สมาชิกท่านหนึ่งยังส่งรูปเข็มของท่านมาให้ผมด้วย ผมสันนิษฐานว่า พอเริ่มเปลี่ยน ก็ต้องให้อลังการเข้าไว้ เพราะ อ.สำเริง ท่านตั้งใจเต็มที่ จะมาพัฒนาโรงเรียน ท่านมานี่ ไม่ได้มาเองนะครับ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มา แล้วก็มิใช่ไก่กานะครับ ท่านมาเป็น “ผู้อำนวยการโรงเรียนชั้นพิเศษ” น้อยคนในสมัยนั้นที่จะได้ เท่าที่ทราบก็มี สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ พณิชย์พระนคร เก่าแก่ทั้งนั้นครับ ท่านก็คงกำหนด ดอกแก้ว ต้นแก้ว (เคยมีผู้บอกผมว่า นกแก้ว เป็นสัตว์ประจำโรงเรียน ลองวินิจฉัยเองนะครับ) ให้เข้ากับสีที่เปลี่ยนไปครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655771458039805/
๓๔) คราวนี้เรามาวินิจฉัยเรื่อง สีเขียวขาว กันนะครับ ว่าหมายถึงอะไร ผมคลับคล้ายคลับคลา แต่ไม่แน่ใจนักว่า เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้กำหนดให้สีขาวนั้น หมายถึงนักเรียน แล้วกำหนดให้ใช้คู่กับสีประจำโรงเรียนหรือไม่ แต่โรงเรียนเก่าแก่หลายแห่ง ยังใช้มาจนทุกวันนี้ เช่น ฟ้า-ขาว พณิชยการพระนคร น้ำเงิน-ขาว เซนต์คาเบรียล ครับ ถ้าเป็นเช่นนั้น สีเขียว ของเรา จะหมายเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจาก วันพระบรมราชสมภพ (วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๐) และ วันสวรรคต (วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๗) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย อันตรงกับวันพุธทั้ง ๒ วัน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก บางท่านอาจแย้งว่า วันประสูติ กรมขุนพิทยลาภฯ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๖ ก็ตรงกับวันพุธ ผมว่าน่าจะไม่ใช่ หากจะใช้เช่นนั้น สีชมพู วันอังคาร วันพระบรมราชสมภพพระพุทธเจ้าหลวง มิดีกว่าหรือ ถ้าจะถามต่อว่า แล้วทำไมไม่ใช้ ผมขอยืมคำของ อ.สงบ สวนสิริ เขียนไว้ใน “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒” ที่ว่า “ตราทวีธาภิเศก สมัยโน้นไม่ยักมีใครสนใจใยดี มองข้ามไปถึงพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม” มาเป็นคำตอบ หวังว่าคงเปรียบกันได้นะครับ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ก็คือ ความ เลือนราง ของ ทวีธาฯ วัดนาคกลาง ที่เคยเรียนไว้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ผมต้องจบการค้นคว้าเรื่องช่วงนี้ แต่ก็มีข้อมูลอยู่ ดังที่นำมาลงแสดง เสียดายที่ค้นคว้ามาครับ ท่านใดจะเชื่อหรือไม่เชื่อตาม ก็แล้วแต่วินิจฉัยนะครับ ส่งความเห็นมาแลกเปลี่ยนกันก็ได้ ส่วนรูปก็เอามาพักสายตาเช่นเคย เป็นฝีมือ ครูเหม เวชกร ท่านเดิม เขียนจากจินตนาการ (เหมือนผมเลย) ตามเดิมครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655774101372874/
๓๕) เมื่อเขียนถึงหัวหน้าศึกษาสถาน ผมขอฝากข้อมูลหนึ่งไว้ใน Post นี้ด้วยนะครับ อาจมีผู้มีอำนาจใดมาแก้ไขได้ เรื่องนี้อยู่ในช่วงต้นๆ ของโรงเรียน ที่ยังตั้งอยู่ที่ วัดอรุณฯ แต่ใช้ชื่อ ทวีธาภิเศก แล้ว ดังนี้ครับ เมื่อแรกค้นคว้า ผมเห็นว่าประวัติครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผอ. เป็นเรื่องที่ต้องทำ โดยเฉพาะท่านแรกๆ แต่จริงแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมจึงได้แต่เก็บข้อมูลไว้ใน ครูใหญ่ผู้มีบรรดาศักดิ์ ของงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ๑.ขุนอุปการศิลปเสรฐ ๒.นายพร้อม ๓.นายชม จริงแล้วมีอีก ๒ ท่านนะครับ คือ ๔.ขุนดรุณวิทยวรเสรฐ และ ๕.ขุนวิสิฐดรุณกล ซึ่งผมตั้งใจจะไปหาใน “วิทยาจารย์” แต่เกิด Covid-19 ขึ้น ไปไหนไม่ได้ ก็ตามนั้นครับ ท่านที่ ๑. และ ๓. มีข้อมูลมากพอสมควร แต่ท่านที่ ๒. ไม่มีเลย โรงเรียนเอารูปถ่ายที่ไหนมาก็ไม่ทราบ ติดไว้ที่ “บอร์ดผู้บริหาร” ดังรูปใบที่ ๑ นะครับ ซึ่งผมก็จนใจ เพราะว่าท่านต้องไม่เป็น “นายพร้อม” เฉยๆ แน่นอน ควรมียศศักดิ์ เจริญก้าวหน้าไป ทำให้หาข้อมูลยากมากครับ แต่ไม่ทราบว่านึกอย่างไร ในวันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓ สายๆ หลังกลับจากปั่นจักรยานไปโรงเรียนมาแล้ว ได้ลองประณมมือ อธิษฐานจิตร (เล่นๆ) ว่า “หากมีบุญจะได้ทำงานนี้ต่อไป ขอครูบาอาจารย์ช่วยหาให้ด้วยเถอด อย่าได้ยากเย็นแสนเข็ญอย่างใดเลย” แล้วก็ขึ้นไปค้นในดรรชนี “ประวัติครู” ที่มีอยู่ที่บ้าน พบชื่อ “ขุนพร้อมพิทยาคุณ (พร้อม เผื่อนพงศ์)” จึงลงมาค้นใน Website ของ คุรุสภา พบว่าใน “ประวัติครู ๑๖ มกราคม ๒๕๐๖” (รูปที่ ๒ ครับ) นางเอื้องพันธุ์ คุ้มหล้า ครูใหญ่โรงเรียนสตรีพัทลุง พ.ศ.๒๔๘๗-๒๔๙๐ บุตรีท่าน เขียนประวัติพร้อมลงรูปถ่ายไว้ด้วย (รูปที่ ๓ ครับ) มีความตอนหนึ่งว่า “เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดอรุณฯ (ทวีธาภิเศก) แล้วจึงย้ายไปเป็นข้าหลวงมณฑลอุดร เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔” ตรงตามที่ อ.วรสิทธิ เขียนไว้ใน “๕๕ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๐๐” แต่ราชทินนามท่านสะกดว่า “พร้อมพิทยคุณ” ซึ่งน่าจะถูกต้องกว่า เท่านี้ว่าแปลกแล้ว ยังมีกว่านี้อีกครับ หลังจากนั้นราว ๒-๓ วัน ผมก็ไป หอจดหมายเหตุ ค้นข้อมูลทวีธาฯ ตามปรกติ แต่เป็นเรื่องอื่น พบข้อมูลของท่านโดยบังเอิญอีกเพียบ ดังรูปที่ ๔-๘ นะครับ พอขอเขาทำสำเนาเสร็จ ต้องรีบถีบจักรยานไปไหว้พระในโบสถ์ วัดราชาธิวาส สวดมนต์ขาดๆ วิ่นๆ อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน ด้วยอัศจรรย์ใจในแรงครูบาอาจาริย์จริงๆ ผมถึงเกริ่นมาแต่ต้นว่า ขอ “ผู้มีอำนาจ” ท่านใดก็ได้ ช่วยแก้ไขให้ผมด้วยเถิด ผมสงสาร ท่านเป็นเพียง “นายพร้อม ครูใหญ่โรงเรียนทวีธาภิเศก” ที่ไร้ประวัติใดอยู่กว่า ๗๐ ปี เพียงแค่โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นขุนนางบรรดาศักดิ์ใด ราชทินนามว่ากระไร ก็ไม่มีใครทราบแม้แต่น้อย ถึงท่านจะอยู่กับเราไม่นาน แต่ก็เป็นธรรมชาติวิถีของทั้งราชการและบุรพกรรมมนุษย์นะครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3655994354684182/
๓๖) หวังว่าคงตอบคำถามหมดแล้วนะครับ คราวนี้จะเขียนเรื่องงานค้นคว้าของผมต่อไป Post นี้ ความจะต่อจาก Post ที่ ๑๘) นะครับ ผมใช้เวลาอีก ๑ ปี ด้วยทุนที่รุ่นน้องให้ไว้ก่อนกลับอเมริกา งานสำเร็จ ปิดเล่มในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๓ พอดีเลยครับ ตรงนี้เกิดมรสุมลูกที่ ๑ รายละเอียดผมไม่ขออ้างถึงนะครับ แต่มรสุมลูกนี้พยายามชี้นำว่า “วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ไม่ใช่วันทวีธาภิเศก” ผมของขึ้นเลยครับ เพราะ ๑.เขาใช้หลักฐานสำคัญ แต่ชูประเด็นที่ไม่สำคัญ ๒.(ข้อนี้ ผมขอประทานโทษก่อน ที่ต้องออกชื่อ แต่ขอเรียนจากใจจริงว่า ณ เวลานี้ อโหสิกรรมให้หมดแล้ว) หน่วยงานสำคัญของโรงเรียน (จะเรียกว่าโรงเรียนก็คงได้) และองค์กรหนึ่งที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนมรสุมลูกนี้ แต่ผมว่าทั้งโรงเรียนและองค์กรนั้น ก็คงรับข้อนี้ไม่ได้ แต่ไม่รู้จะไปเถียงมรสุมลูกนั้นอย่างไร ผมขอเถียงแทนยันป้ายเลยครับ การคำนวนเรื่องนี้ ขอโทษนะครับ มิใช่ซี้ซั๊ว คงพอจำ กรมพระสมมตฯ กันได้นะครับ นั่นก็พระองค์หนึ่ง อีก ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามหามาลาฯ และ กรมพระยาเทวะวงษ์ฯ (ผมขอใช้ย่อๆ นะครับ) ทรงคำนวนวันถวาย กรมพระยาเทววะวงษ์ฯ ท่านคำนวนไว้ก่อน กรมพระสมมตฯ ท่านมาคำนวนภายหลัง ตกวันตรงกัน แต่เจ้าฟ้ามหามาลาฯ ท่านคำนวณไว้ก่อนหน้านั้นมาก ตกวันต่างกันเพียงวันเดียว ยังต้องสอบเทียบกันวุ่นวาย พระพุทธเจ้าหลวงท่านเชื่อน้องท่าน ๒ พระองค์ครับ เรื่องนี้สำคัญมาก พอเทียบวันครองราชย์ทั้ง ๒ รัชกาลให้ตรงกันแล้ว ต้องส่งไปที่ กรมโหรหลวง ให้เขาคำนวนพระฤกษ์ ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะจะกำหนดเป็น ฤกษ์สรงมุรธาภิเศก ทั้งหมดนั้น ตรงกับเวลา ๕ โมง (๑๑.๐๐ น.) กับ ๕ นาที ๔๘ วินาที ของ วันอังคารที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๑ ซึ่งเรามากำหนดเป็น “วันทวีธาภิเศก” ถูกต้องแน่นอนครับ แต่ผมไม่มีเวทีเถียง ก็ได้แต่เก็บไว้ น้อยใจนิดหนึ่งว่า เหตุใดโรงเรียนหรือองค์กรนั้น จึงไป “จ้าง” ให้มรสุมลูกนั้นทำ แล้วก็เชื่อด้วย ทั้งๆ ที่ก็เห็นว่าเขาจบใหม่ เป็นเด็กเหลือเกิน กรรมนะครับ รูปที่นำมาลงนี้คือ “ใบคำนวนของกรมพระยาเทววะวงษ์ฯ” ครับ มีเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน้า เมื่อเขียนถึงตรงนั้นแล้วจะนำมาลงเต็มครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3656536684629949/
๓๗) คราวนี้ก็มรสุมลูกที่ ๒ ผมจะไม่เล่า “ต้นสาย” แต่จะเขียน “ปลายเหตุ” เลยนะครับ เรื่องนี้เคยเกริ่นๆ ใน Post ที่ ๔ แล้ว มรสุมลูกนี้ ทำให้ผมต้องปรับปรุงงานที่ปิดเล่มไปแล้วนั้น ให้อลังการขึ้นไปอีก เพราะ “ต้นเค้า” ของมรสุมบอกว่า จะนำไปพิมพ์ ๔ สี อย่างดี ไม่ขายด้วย ให้เป็นอภินันทนาการ ผมมาคิดหนัก เพราะคราวนี้ คงต้องขอเอกสารต้นฉบับมาดู แล้วนำไป Scan ที่ห้องรูป อันเป็นคนละหน่วยงานกับห้องเอกสาร วิธีนี้ สีและความคมชัดเทียบเท่าต้นฉบับ เราจะได้ “รูป” ของเอกสารที่สวยงามมากครับ แต่ค่าบริการ File ละ ๔๐ บาท ๑ File มี ๑ หน้า เท่านั้น ทั้งต้องใช้หนังสือราชการสถานเดียว ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ต้องพิจารณาก่อนทุกกรณี ว่าจะอนุญาตหรือไม่ เพราะเป็นต้นฉบับตัวจริง ผู้ไม่มีความรู้ อาจทำเอกสารเสียหายได้ กรณีอนุญาต มีน้อยมากครับ ต้องหน่วยงานใหญ่ๆ บารมีมากๆ เมื่ออนุญาตแล้วก็ไม่ให้เยอะนะครับ แต่ผมใช้ Credit ตัวเอง ที่มาค้นคว้างานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๙ เขาจึงอนุญาตเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องมีหนังสือราชการแม้แต่ตัวเดียว แล้วให้ในจำนวนตามแต่เราต้องการด้วย ตรงนี้ขอเรียนว่า แม้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ สภากาชาดไทย ที่ผมทำงานอยู่ ลูกศิษย์มาขอร้องให้ช่วย ผมปัดให้ไปทำเอง อ้างว่าอายุมากแล้ว Concentration มีน้อยลง ทั้งไม่มีเวลา ต้องดูแลแม่ ซึ่งอายุ ๘๙ ปีแล้ว ก็ได้มากันคนละ ๑๐-๒๐ หน้า (แต่งานของผม ได้มากว่า ๑๕๐ หน้า เป็นเงินเท่าไร ไม่อยากคิดเลย แล้วก็ค่าเอาไปอัดอีก หน้าละ ๑๕ บาทครับ) ดังนั้น ค่าใช้จ่ายตรงนี้จึงสูงมาก เรียกได้ว่าเกินกำลังผม ซึ่งปัจจุบันมิได้ทำงานประจำแล้วนะครับ ที่สำคัญยังมิได้รับอนุญาตจาก “ต้นเค้า” แต่ผมก็ตัดสินใจว่าต้องทำ เพราะตั้งใจทำงานนี้จนสุดกำลัง ให้ดีที่สุด พยายามหาสิ่งดีที่สุด มาทดแทนพระคุณโรงเรียนที่เราเรียนมาให้จงได้ บังเอิญไปคุยกันในหมู่ลูกศิษย์รุ่นเล็ก เขาตกลงกันว่าจะรวมเงิน ช่วยกันตามกำลัง แต่เมื่อลูกศิษย์รุ่นใหญ่ทราบ มีคนหนึ่งอาสาว่า เงินเพียงเท่านี้ เขาขอออกให้คนเดียวสะดวกกว่า เพื่อขอสนองพระคุณครู ทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงวิชาการด้วย ซึ่งผมก็มีแต่เพียงคำขอบคุณให้เขาเท่านั้นเองครับ งานชิ้นนี้สำเร็จลงในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๕ มรสุมเกิดในวันอาทิตย์ที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๖ คือ ไม่พิมพ์ แล้วก็ใช้วิธีที่ไม่ค่อยดีนัก เอา File ทั้งหมดของผมไปด้วย ลูกศิษย์ผมบอกยอมไม่ได้ จะไปฟ้องร้องถึงโรงถึงศาล ผมแทบจะต้องกราบกรานเขา ขอให้เห็นแก่ผม ที่เป็นครูเขาเถิด อย่าให้มันมากเรื่องมากความไปเลย เขาก็เลยขอเอาไปทำ E-Book เพื่ออย่างน้อย เราก็ Publish ก่อน นี่คือสาเหตุหนึ่งที่ผมต้องเปิด FB ขึ้นมา แต่กว่าจะเปิดได้ มี พระบารมี มาบังคับตั้ง ๒ ครั้ง ผมขออนุญาตไม่เล่าดีกว่า จากนี้ น่าจะเข้าสู่เนื้อหากันได้แล้ว มี FC รอไม่น้อยเหมือนกัน ขอจบด้วย กรรมโยนี กรรมพนฺธู กรรมปฏิสรณา ลองไปหาแปลกันเองนะครับ Post นี้ ไม่มีรูปให้ดู แล้วก็ไม่อยากเขียนถึง แต่จำต้องทำ เพราะจะได้เป็นข้อมูลไว้ครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3656617054621912/
๓๘) ผมต้องขอบคุณทุกท่านที่อ่านหรือกด Like กด Love ใน Post ที่แล้วของผม ซึ่งทั้งยาว ทั้งไร้สาระ แต่ผมว่า “ต้นเค้ามรสุม” ลูกนั้น คงเจ็บๆ คันๆ บ้าง ท่านเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงนะครับ กฎหมายอาจทำอะไรท่านไม่ได้ แต่รตยานุภาพดังพุทธวจนที่ผมยกมาตอนท้ายนั้น ต้องไปถึงท่านแน่ๆ ตามจริงผมว่า เราจะมองให้เป็นเรื่องดีก็ได้ ถ้าไม่มีมรสุมลูกนี้ ผมก็คงไม่ “จัดเต็ม” แล้วเราก็คงไม่ได้เอกสารชุดนี้มางดงามอย่างนี้ เชื่อไหมครับ เวลาใดที่ผมเกิดโมหโทสจริตต่อมรสุมลูกนั้น ผมมองไปยังเอกสารเหล่านี้ หายไปเลยครับ มีแต่ความชื่นใจเข้ามาแทนที่ ผมจึงขอเรียนว่า “อโหสิกรรมนี้ ยังผลให้เกิดแล้ว อาฆาตแคล้ว พยาบาทสูญ ไม่แลเห็น ถึงโรคซ้ำ กรรมซัด วิบัติเป็น ถึงชั่วเข็ญ ดีได้ ใจเบิกบาน” เอาล่ะครับ กลับมาดีกว่า มีผู้ Inbox ถามเรื่อง “การอ้างอิง” มาครับ ท่านอยากให้ลงไว้ด้วย เพื่อตามกลับไปสืบค้นได้ ผมตอบท่านไป แล้วก็คิดได้ว่า เอามาลง Post ดีกว่า เป็นความรู้ด้วย ดังนี้ครับ แต่แรกก็อยากลงนะครับ แต่มันยาวเกิน เพราะมีทั้ง ๑.สมบูรณ์ ๒.สังเขป ๓.ย่อ เช่น สมบูรณ์ เอกสารรัชกาลที่ ๕ กระทรวงมุรธาธร อาลักษณ์และรัฐมนตรีสภา หัวข้อที่ ๑๖ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปึกที่ ๑ พระราชทานแก่ข้าราชการ เรื่องที่ ๑๐๙ สัญญาบัตรและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประทวน เหรียญทางกรมรถ กรมม้า กรมโขนแลกรมรำโคม (๓๑ ส.ค.๑๒๐-๕ เม.ย.๑๒๗) สังเขป เอกสารรัชกาลที่ ๕ กระทรวงมุรธาธร อาลักษณ์และรัฐมนตรีสภา ๑๖.๑/๑๐๙ (ในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ ผมใช้อย่างนี้ครับ) ย่อ ร.๕ อ.๑๖.๑/๑๐๙ เครื่องหมายก็ต้องให้ถูกของเขานะครับ จะใช้ตามใจเรา เช่น ตรงนี้ . ตรงนั้น / ไม่ได้ เพราะเวลาเขียนขอเอกสารมาดู เราต้องใช้อย่างย่อครับ จะได้เข้าใจตรงกัน มิฉนั้น เจ้าหน้าที่ผู้หาเอกสารจะหยิบผิดครับ แต่ถ้าสังเกตดีๆ ในเอกสารของผม น่าจะส่วนมุมบนๆ มีอ้างอิงย่ออยู่ แต่ไม่เสมอไปนะครับ พอขอไปแล้ว เขาก็อาจจะแจ้งว่า นี่เอกสารเก่ามากๆ ไม่ให้ดูฉบับจริง ให้ไปดูจากเครื่องอ่าน Microfilm ซึ่งก็ต้องใช้อีกรหัสหนึ่ง เช่น ม ร.๕ รล/๔ หมายถึง ไมโครฟิล์มเอกสารรัชกาลที่ ๕ กรมราชเลขาธิการ ม้วนที่ ๔ (เท่าที่ทราบ เอกสารรัชกาลที่ ๕ ทั้งหมด ไม่อนุญาตทุกกรณี ที่จะขอดูฉบับจริงครับ) แต่เราจะเอารหัส Microfilm นี้มาอ้างอิงไม่ได้ ต้องใช้รหัสหน้าเอกสาร ดังรูปทั้ง ๔ ใบ ด้านล่างนี้นะครับ เพราะ Microfilm ม้วนหนึ่งมีเป็นพันหน้า อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ต้องหมุนล้อของมันแล้วกะระยะเอา (ตรงนี้อธิบายยาก ต้องทำให้ดูครับ) แต่ของผม Scan จากต้นฉบับจริงทุกชิ้น ไม่ผ่านกระดาษสาอย่างที่เคยเรียนไว้นะครับ แล้วไม่ต้องกังวล ผมจะเย็บเล่ม (ถ้ามีทุนจะ Print สี นะครับ) เก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์โรงเรียน ให้ลูกหลานเราค้นคว้าง่ายๆ ต่อไป เพราะกว่าจะมาถึงตรงเขียนขอเอกสารมาดูได้นี่ ต้องไปขอดูจากบัญชีของเขาก่อน ซึ่งก็ใช่จะดูแล้วเข้าใจได้ง่าย ร้อยทั้งร้อยครับ ขาใหม่ ขาเก่า ขาประจำ ขาจร ก๊งทั้งนั้น นี่ไม่เว้นแม้แต่ตัวผมนะครับ หลายครั้งก็ก๊ง ผมถึงว่ารอดูสักพักครับ ถ้า พระบารมี สุดท้ายโปรดมาเมื่อไร คงได้อ่านกันทั่วหน้าไม่ต้องกลับไปค้นหรอกครับ ลำบากเปล่าๆ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3656649351285349/
๓๙) ว่าจะเข้าเรื่อง “พระราชทานกำเนิดทวีธาภิเศก” ได้แล้ว ก็ยังไม่ได้ มีสมาชิกกรุณาให้ความเห็นต่างๆ มามากมาย ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ไม่น้อยเลยครับ ผมก็ต้องขออนุญาตใช้สิทธิ์ “สมาชิก” กับเขาบ้าง ลองดูรูปและคำบรรยายด้านล่างนี้กันนิด แล้วให้ความเห็นมากันหน่อยนะครับ รูปแรกมาจาก “๘๔ ปี ทวีธาภิเศก ๒๕๒๒” รูป ๒ มาจาก “พิพิธภัณฑ์โรงเรียน” รูป ๓ และ ๔ มาจาก “ที่ระลึกในโอกาสเปิดป้ายโรงเรียน ๒๕๓๖” เป็นบทความของ อ.เรวัติ ชื่นสำราญ เขียนไว้แต่ พ.ศ.๒๕๒๑ นำมาลงพิมพ์ซ้ำ แต่ไม่แจ้งที่มาครับ ขออนุญาตเรียนว่า ต้องใช้วิจารณญาณ อย่าไปปรักปรำ อ.เรวัติ ท่านเลยนะครับ ความเชื่อนั้น เป็นเรื่องปัจเจก แต่สำหรับผม “ทุกที่ในโรงเรียนมีเรื่องราว และ พ่อขุนเป็นจริงอยู่ในใจผมเสมอครับ”
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657170654566552/
๔๐) Post นี้ ก็น่าจะเข้าเรื่องได้แล้ว แต่ก่อนอื่น ผมขอ “เอาพระคุณไตรรัตน์กระพัดจิต พระคุณเจ้าชีวิตคิดถวาย คุณบิดามารดรไม่คลอนคลาย คุณครูบาอาจารย์หมายประกอบการ ถ้าแม้นลูกตั้งใจไว้เช่นนี้ ขอให้เกิดผลดีทุกสถาน อุปสรรคอย่าได้มีมาแผ้วพาน ปวงเทวัญพลันบันดาลทุกเมื่อไป” เหตุแห่ง การพระราชทานกำเนิดโรงเรียนทวีธาภิเศก นั้น ไม่ใช่มีเรื่อง โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม เหตุเดียว ผมจะขอเล่าอย่างง่ายๆ ไปเรื่อยๆ นะครับ เริ่มต้นด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าหลวงทรงครองราชย์ เท่า กับรัชกาลก่อน เรียกว่า พระราชพิธีสมภาคาภิเศก มี ๔ ครั้งนะครับ ครั้งแรกคือ รัชกาลที่ ๒ “วัน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม เบ็ญจศก จ.ศ.๑๒๔๕” (วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๖) ครั้งนี้แหละครับที่โปรดให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ ทรงคำนวนสอบวันอย่างละเอียด ดังที่เคยเขียนใน Post ที่ ๓๖ มาแล้ว Post นี้ ผมขอลง “ใบคำนวน” ครบทั้ง ๒ ใบเลยนะครับ คราวที่แล้วเป็นขาวดำ คราวนี้จัดเต็ม ลงเป็นสีเลย จะได้สวยๆ (แต่แลกกัน อ่านยากหน่อยครับ) ที่จริงมี ๔ ใบ คือ อักษรบรรจง ที่นำมาลงนี้ กับ อักษรหวัด ซึ่งถวายเป็นสำเนา ถ้าอ่านใจความ จะทราบได้เลยว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เคยทรงคำนวนถวายมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่คลาดกับ กรมหมื่นเทวะวงษ์ฯ อยู่เพียงวันเดียว พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงเชื่อน้องท่าน แล้วก็มีกระบวนการอีกวุ่นวาย ต้องมากำหนดพระฤกษ์สำคัญ หรือทำหมายรับสั่ง หมายกำหนดการ ฯลฯ อย่างที่เขียนใน Post ที่ ๓๖ นั้นแหละครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657381467878804/