เล่าเรื่องทวีธาภิเศก โดย ประกิต สะเพียรชัย Ep.5

๔๑) พระราชพิธีสมภาคาภิเศก ครั้งที่ ๒ คือ รัชกาลที่ ๔ “วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีรกา สัปตศก ๑๒๔๗” (วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๙) ครั้งที่ ๓ คือ รัชกาลที่ ๓ “วันที่ ๑๒ มิถุนายน ร.ศ.๑๑๔” (วันพุธ พ.ศ.๒๔๓๘) และครั้งที่ ๔ คือ รัชกาลที่ ๑ “วันที่ ๓ มีนาคม ร.ศ.๑๑๔” (วันอังคาร พ.ศ.๒๔๓๘) ปลายปีเดียวกันนั้นครับ ในพิธีนี้ทรงสร้างเหรียญห้อยสายนาฬิกา พระราชทานเป็นที่ระลึกทุกครั้ง ดังรูปที่ผมนำมาลงนะครับ ลองขยายดู ทุกเหรียญบอกข้อมูลไว้ครับ เรื่องรูปนี้ ผมต้องขอเรียนว่า ทั้งใน Post นี้ และ Post หน้า Copy มาจาก Internet ของเหล่า “เซียนพระ” ซึ่งตามจริงน่าจะขออนุญาตเขาก่อน แต่คิดว่าเป็นการศึกษา แล้วผมก็ลงอ้างอิงให้ทุกรูปในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ ส่วนใน Page นี้ ก็เท่าที่ทำได้ หากมาเห็น คงไม่ว่ากันนะครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657383781211906/

๔๒) เรื่องต่อไป ทรงครองราชย์เป็น สองเท่า ของรัชกาลก่อน เรียกว่า พระราชพิธีทวีธาภิเศก มี ๒ ครั้งครับ คือ รัชกาลที่ ๒ (ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเรา) “วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗” (วันอังคาร พ.ศ.๒๔๔๑) และ รัชกาลที่ ๔ “วันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๒” (วันเสาร์ พ.ศ.๒๔๔๖) ซึ่งก็ทรงสร้างเหรียญที่ระลึกเหมือนกัน ดังรูปที่นำมาลง พระราชพิธีทั้ง ๖ ครั้งนั้น เห็นได้ชัดนะครับว่าเกี่ยวข้องกัน ถ้าจะถามว่า ทำไมมีพิธีเช่นนี้ ก็ต้องตอบว่าเป็น ธรรมเนียม มาจนกลายเป็น ราชประเพณี ครับ คล้ายกับว่า ท่านจะก้าวข้ามรัชกาลก่อน ก็ต้องบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศไปถวาย ผมเคยเห็นคนเราธรรมดา ถ้าเขามีอายุมาถึงปู่ย่าตายายเขา เขาก็ทำบุญไปให้เหมือนกัน ก็เปรียบง่ายๆ ดังนี้นะครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657385871211697/

๔๓) ใน พระราชพิธีทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ ผมคิดว่า กรมหมื่นสมมตฯ ท่านทรงคำนวนวันถวาย เพราะมี “ใบคำนวน” เหมือนกัน ดังรูปนะครับ ที่ คิดว่า ก็เพราะท่านไม่ได้ลงพระนามไว้เหมือนกรมหมื่นเทวะวงษ์ฯ แต่เทียบจากลายพระหัตถ์ในหลักฐานที่เกี่ยวข้องอีกหลายชิ้น น่าจะใช่ครับ แล้วท่านก็เก็บไว้กับใบคำนวนของ กรมหมื่นเทวะวงษ์ฯ ในรูปตอนบนเห็นชัดเลยครับว่า ท่านเขียน “ควรเก็บติดกันไว้” แล้วก็ดังที่เห็นนะครับ ทรงคำนวนละเอียดจริงๆ มาตกวันนี้แน่นอน ผมถึงงงว่า มรสุมลูกที่ ๑ กล้าดีอย่างไร จึงมาชี้นำให้ผู้อ่านเข้าใจไขว้เขว ดังที่เขียนไว้ใน Post ที่ ๒๖ นั้นครับ ที่ตอนท้ายเป็นลายมือ เขียนไปคนละทางนั้นเป็นลายพระราชหัตถ์พระพุทธเจ้าหลวงนะครับ ทรงเขียนนามช้างสำคัญไว้ ผมก็สันนิษฐานอีกแหละว่า คงทรงกำหนดให้เชิญมา “ยืนโรง” ในพระราชพิธี ตามธรรมเนียม กรมหมื่นสมมตฯ ท่านคงเห็นเกี่ยวข้องกัน ก็เลยใช้กระดาษแผ่นนี้คำนวนครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657389114544706/

๔๔) เอกสารชุดนี้เป็นลายพระหัตถ์ กรมหมื่นสมมตฯ ทั้งหมดนะครับ ส่งไปถวาย พระวรวงษเธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ ซึ่งรับผิดชอบการช่างต่างๆ ในเวลานั้น รูปแรกเป็นกำหนดการคร่าวๆ ๔ รูปต่อไปเป็นข้อความที่จะปักหรือพิมพ์ลงบน “ผ้ากราบ” ถวายพระ ที่สำคัญคือฉบับตัวพิมพ์รูปที่ ๕ ครับ มีลายพระราชหัตถ์พระพุทธเจ้าหลวงเรื่องเหรียญ ทรงไว้ที่มุมขวาล่าง ลองอ่านดูกันนะครับ ส่วน ๓ รูปสุดท้ายเป็นลายที่จะปักหรือพิมพ์ แล้วลงข้อความที่ร่างไว้ (รูปที่ ๑-๓) ขอให้สังเกตรูปสุดท้ายนะครับ มีตราคล้าย เหรียญทวีธาภิเศกรัชกาลที่ ๒ ซึ่งถ้ากลับไปสังเกตรูปใน Post ที่แล้ว กรมหมื่นสมมตฯ ท่านก็ร่างลายเส้นเหรียญไว้เหมือนกัน แต่เป็น สัณฐาน มีหลายทรงนะครับ ร่างนี้ ต้องเกิดก่อนลายและเหรียญที่ต้องส่งไปทำแน่นอน ผมจึงสันนิษฐานในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ว่า กรมหมื่นปราบฯ ทรงร่างถวายครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657392187877732/

๔๕) ในพิธีทั้งหมดนั้น ก็จะมี “ทำบุญ” (บำเพ็ญพระราชกุศล) มี “นิมนต์พระมาเทศน์” (ถวายพระธรรมเทศนา) แล้วก็มี “ติดกัณฑ์เทศน์” (ทำกระจาดบูชากัณฑ์เทศน์) อย่างเราๆ นะครับ ใน ภาคาฯ ร.๒ ทรงขอแรง (เกณฑ์) ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายใน ให้มาช่วยกันทำ “กระจาด” ตั้งหน้า พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปจนถึง ประตูพิมานไชยศรี เลยนะครับ ซึ่งก็คงจะอลังการเว่อร์วัง ประชันขันแข่งกันมาก เขาว่า “กระจาดซึ่งตั้งในโรงต่างๆ นั้น เมื่อยังไม่ถึงเวลานั้น เอาม่านปิดทุกโรง เวลาย่ำเที่ยงก็เปิดพร้อมกันหมด ดูงามนักหนา มีคนเข้ามาชมเชยแน่นหนา ไม่มีเวลาว่างเลย … คนดูกระจาดวันนี้มากไม่มีว่าง ดูเบียดกันไปเสมอ” แสดงว่าโปรดฯ ให้ ชาวบ้านร้านช่อง เข้ามาดูด้วย พอถึง ภาคาฯ ร.๔ ครั้งถัดมา ท่านเลยต้อง “สกัดดาวรุ่งกระจาด” พวกนี้ลงบ้าง ลองอ่านความในรูปที่ ๑ นะครับ ผมอ่านแล้วก็ขำๆ ดี แล้วผมมีรูป “กระจาด” ที่ตั้งหน้า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในงาน ร.๔ นั้นให้ดู ๒ ใบ มี Drama นิดนะครับ ผู้อ่านรูปคือพี่ เอนก นาวิกมูล (ถ้าพี่มาเห็น น้องน้อยกราบขออภัยด้วยนะครับ) ท่านอ่านคลาดเคลื่อนไปหน่อยว่าเป็นงาน ภาคาฯ ร.๑ ซึ่งผมค้นมาได้ว่าในงานนั้นไม่มี (ดูใน Post ที่ ๔๖ ต่อจากนี้นะครับ) แล้วสังเกตจากด้านหลังเป็น “ชั้นต่ำ” (ภาษาชาววังครับ ชาวบ้านเรียก ล่องถุน หรือ ใต้ถุน แต่ไม่ใช่ ชั้นล่าง หรือ ชั้น ๑ นะครับ) พระที่นั่งจักรีฯ แน่นอน ลักษณะ “กระจาด” ก็คล้ายที่ท่าน “สกัดดาวรุ่ง” ไว้ครับ ตรงนี้ ผมขอเรียนสมาชิกว่า การค้นคว้า ไม่ว่าเรื่องใด เราต้อง “กำหนดขอบเขต” หรือ “ตีวง” ให้ได้ ถ้ายิ่งแคบเท่าไร งานเราก็จะออกมาดีเท่านั้น เรื่อง พระราชทานกำเนิดโรงเรียนทวีธาภิเศก ของผม ก็เป็นเช่นนั้นครับ กำหนดแค่สร้างตึกโรงเรียนสำเร็จ จบ ก็แย่แล้ว เพราะอย่าลืมว่า โรงเรียนเรา อายุเป็นร้อยปีนะครับ ต้องมีเรื่องราวสารพันเกิดในแต่ละช่วงเวลาไม่น้อย ระหว่างค้นคว้า ผมพบเอกสารรัชกาลที่ ๖-๘ เรื่องโรงเรียนเราอีกเพียบครับ ยังไม่กล้าเขียนเลย เพราะคงเป็นงานใหญ่แน่ๆ การเขียนร่ายยาวเป็นพงศาวดารลงมาจนปัจจุบัน (อย่างมรสุมลูกที่ ๑ ทำ) ผมไม่ทำแน่นอน ไม่เถียงว่าทำได้ แต่อาจคลาดเคลื่อนอย่าง พี่เอนก แล้วก็ไม่ครอบคลุมถ้วนทุกประเด็นด้วยครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657669691183315/

๔๖) แต่พอถึง ภาคาฯ ร.๓ ครั้งถัดมาอีก พระพุทธเจ้าหลวงท่านทรงเลิกเลย ลองอ่านในรูป ๑-๓ นะครับ เพราะคงทรงทน “ความอลังการเว่อร์วัง” ไม่ได้ จึงทรงเปลี่ยนไปถวายเงินปฏิสังขรณ์ พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม ๒๘๐ ชั่ง ดีกว่า งานนี้ พระเจ้าราชวรวงษเธอ พระองค์เจ้าบุตรี ถวายเงินช่วย ๕ ชั่ง เหตุที่ท่านถวาย ผมเดานะครับ เพราะเวลานั้น ท่านเป็นผู้มีบุญวาสนาอยู่ที่ “ฝ่ายใน” ทั้งท่านก็เป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ประสูติแต่ ท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาอึ่ง ในรัชกาลที่ ๓ บุตรี เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต กัลยาณมิตร) กับ ท่านผู้หญิงลิ้ม ตรงนี้ ผมขอให้จำดีๆ เพราะจะมีความเกี่ยวข้องต่อไปครับ) ซึ่งกำกับการฝ่ายใน ท้าวนาง ข้าหลวงในรัชกาลที่ ๕ มาอยู่แล้ว ตัวท่านก็เลยรับช่วงแม่ท่านมา อะไรๆ ท่านคุมหมด อย่างกุญแจฝ่ายในนี่ ท่านถืออยู่องค์เดียวนะครับ เรียกว่า ยิ่งใหญ่กว่า พระองค์เจ้านิเวศน์ พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ที่อายุมากที่สุด (กุลเชษฐ) ในเวลานั้นเลย แต่ เสด็จพระองค์นิเวศน์ ท่านก็แก่มาก แถมยังป่วยออดๆ แอดๆ อีก ท่านก็คงไม่มีแก่ใจมายุ่งตรงนี้หรอกครับ ผลแห่งความยิ่งใหญ่ของ พระองค์เจ้าบุตรี ปีต่อมา พระพุทธเจ้าหลวงก็แต่งตั้งท่านเป็น กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าใอยิกาเธอ ในรัชกาลที่ ๕ เลยนะครับ แล้วพอถึง ภาคาฯ ร.๑ ปลายปีนั้น พระพุทธเจ้าหลวงท่านก็ถวายเพิ่มอีกเท่ากัน เพื่อปฏิสังขรณ์พระอารามเดียวกัน (รูป ๔-๖ ครับ) ไม่มีแล้วครับ “กระจาด” กระเจิงไปเลย คราวนี้ พระบรมวงษานุวงษฝ่ายใน ๒๕ พระองค์ ร่วมกัน “ถวายช่วย” ๒๑๔ ชั่ง เพื่อปฏิสังขรณ์ วัดราชบูรณะ อีกพระอารามหนึ่ง ซึ่งก็วิเคราะห์ไม่ยากอีกเช่นกันว่าทำไมจึงเป็น “ฝ่ายใน” คือท่านคงไม่อยากไปกวนใครอีกแล้ว ถ้าดูในราชกิจจาฯ ฉบับเต็มนะครับ จะเห็นความวุ่นวาย “มาก” คราวนี้ท่านคงอยากให้เป็น “การส่วนพระองค์” (คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่า ฝ่ายใน กับ ส่วนพระองค์ เกี่ยวข้องกันอย่างไร แล้วผมขอให้จำคำนี้ไว้ให้ดี จะเขียนถึงอีกหลายครั้งครับ) ออกเงินเอง ทำอะไรเอง ประมาณนั้นนะครับ ซึ่งตรงนี้ผมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะในครั้งถัดมา มีสามัญชน ๒ นาง (ฝ่ายในครับ) ถวายเงินช่วยใน พระราชพิธีทวีธาภิเศก รัชกาลที่ ๒ แล้ว พระบรมวงษานุวงษฝ่ายใน ที่ผมอยากจะเรียกว่า “เกือบจะหมดพระราชฐาน” ร่วมกันถวายตาม โปรดเกล้าฯ ให้นำเงินนี้มาเป็นทุนสร้างโรงเรียนที่ผมกำลังกระทำปฏิการคุณอยู่ในขณะนี้ครับ ผมขอจบ Post ด้วยความเดียวกับงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์นะครับ “นับแต่นั้นตราบปัจจุบัน ลูกหลานไทยอันสุดประมาณจำนวน ต่างก็ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนนี้ ต่อเนื่องกันลงมามิได้ขาด ทั้งยังจะ “มั่นคงยั่งยืนอยู่นาน” สืบไปในอนาคต สมดั่งพระบรมราชปณิธานที่ทรงตั้งมั่นในพระราชหฤทัยว่า จะพระราชทานการศึกษาเล่าเรียน “ตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นลงไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด” แล้วนั้นทุกประการ”

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657671587849792/

๔๗) แต่แรกว่าจะพอการ Post ประจำวันก่อน พอดีเห็น นายมานพ ติดกระจกเงางาม Post เรื่องน้องที่ได้รับคัดเลือกไปแสดง “กุมภกรรณทดน้ำ” ขอเรียนว่า ปลื้มใจและดีใจอย่างที่สุด เลยขอนำรูป “โขนทวีธาฯ รุ่นคุณลุง” มาให้ดู เพื่อขอบคุณ นายมานพ นะครับ รูปชุดนี้มีบุคคลร่วมสมัยให้ข้อมูลว่า แสดงในวันพุธที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๒ (จริงแล้วใต้รูปเขียนไว้ครับ) งาน “ต้อนรับผู้บริหารโรงเรียนกลุ่ม Asian” รูปอาจจะไม่ค่อยเรียบร้อยนัก รีบนำมาลง ใครเป็นใครแสดงตัวได้เลยครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3657678524515765/

๔๘) ชื่นชม “โขนทวีธาฯ รุ่นคุณลุง” กันจนสนั่น “ลูกทวีธา” แล้ว กลับมาเข้าเรื่องเดิมนะครับ เรื่องต่อไปคือ “เพลิงไหม้ใหญ่ที่วัดอรุณราชวราราม” ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ร.ศ.๑๑๔ (วันอังคาร พ.ศ.๒๔๓๘) เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ อันเป็นเรื่องที่โรงเรียนเราอ้างอิงกันมาทุกยุคทุกสมัย แต่ผิดบ้างถูกบ้างนะครับ รายละเอียดของเหตุการณ์ อ่านได้ในราชกิจจาฯ ที่ผมนำมาลง (รูป ๑-๕ ครับ) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากผมเปรียบเหมือนเหตุการณ์เพลิงไหม้ Notre Dame de Paris มหาวิหารนอทร-ดาม (ไม่รู้เขียนถูกหรือเปล่า ทั้งฝรั่งเศส/ไทย) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้เลยครับ ผมสะเทือนใจมากนะครับที่เห็นพวกฝรั่ง ที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เจริญแล้ว นั่งคุกเข่า ขอพรพระผู้เป็นเจ้า ให้มาช่วยดับไฟ ผมว่า คงเหมือนเพลิงไหม้วัดอรุณฯ ที่ว่านี่แหละครับ พระพุทธเจ้าหลวงท่านเสด็จฯ มาอำนวยการดับเพลิง แล้วโปรดให้เชิญ พระบรมอัฐิพระพุทธเลิศหล้าฯ ที่บรรจุไว้ตรง พระราชลัญจกรครุฑยุดนาค กลางผืนผ้าทิพย์ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ (รูปที่ ๖ ครับ ต้องดูดีๆ ครับ เพราะเล็กมาก) ออกไปก่อน รุ่งขึ้นท่านก็ให้ทำขวัญ พระถ่ายอย่างจาก พระพุทธนฤมิตร พระพุทธรูปฉลองพระองค์ในพระพุทธเลิศหล้าฯ ที่ประดิษฐานใน มณฑปยอดปรางค์ หน้าพระอุโบสถ (รูปที่ ๗ ครับ) เพราะท่านยืน “ผจญเพลิง” อยู่ตรงนั้น ย้ายไปไหนไม่ได้ น่าสงสารท่านครับ พระองค์นี้ ร้อยทั้งร้อยโฆษก TV เรียกผิดหมด จริงแล้วท่านเป็น “ของก๊อปเกรด A” ในสมัยนั้นนะครับ องค์จริงอยู่ในวัง ถ้าอยากอ่านให้ถูก ก็ต้องอย่างที่ผมเขียนมานะครับ สงสัยดูในรูปที่ ๘ ได้ครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658878917729059/

๔๙) คราวนี้เรื่อง “เพลิงไหม้วัดอรุณฯ” จะมาเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเราแล้วครับ คือ พอดับเพลิง ทำขวัญ ตบรางวัล อะไรๆ เสร็จ พระพุทธเจ้าหลวงท่านก็โปรดให้บูรณะพระอุโบสถเป็นการใหญ่ เขาว่า “ทรงสลดพระราชหฤทัย มีพระราชประสงค์จะให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ไปปกครอง จึงโปรดให้แห่พระธรรมวโรดมจากวัดบพิตรภิมุขไปครองวัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ปีจอ พ.ศ.๒๔๔๑ เสด็จฯ ทรงถวายเครื่องบริขารในการขึ้นกุฎีด้วย” แล้วสลับให้ พระราชมุนี เจ้าอาวาสขณะนั้นไปครอง วัดบพิตรพิมุข จากนั้นอีก ๒ ปี เจ้าคุณราชฯ ท่านก็ถวายพระพรลาสิกขาครับ พอหลังเสร็จ พิธีทวีธาฯ ร.๒ ได้ ๓ วัน ท่านเสด็จฯ ไปดูการบูรณะในวันศุกร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) ดัง “พระราชกิจรายวัน” รูป ๑ ว่าไว้นะครับ แล้วหนังสือพิมพ์ The Bangkok Times ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) เสนอข่าวเพิ่มเติม ดังรูป ๒-๓ ซึ่งลางเลือนมากครับ ผมคล้ายว่าเคยเห็นในพิพิธภัณฑ์โรงเรียน เขาว่า พี่ เอนก นาวิกมูล ให้มา รู้สึกจะชัดกว่านี้มาก ของผมนี่มาจาก หอจดหมายเหตุ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า สำเนา Microfilm มาจาก สยามสมาคม ขอให้อ่านที่ผมถอดมาดีกว่าครับ “เมื่อวันศุกรวารนี้ เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวได้เสดจพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งคอนโดเลอหกแจว เสดจประพาศวัดอรุณราชวราราม ทรงทอดพระเนตรจนทั่ววัด แลได้ทอดพระเนตรกุฎีแถวร้าง อันชำรุดหักพังมาก จึ่งทรงรับสั่งกับ พระวรวงษเธอ กรมหมื่นปราบปรปักษว่า กุฎีแถวเหล่านี้ไม่มีประโยชนแล้ว ทิ้งไว้ก็สำหรับจะซุดโทรมไปเท่านั้น ควรแปลงให้เปนโรงเรียนสำหรับอารามนี้สักแห่งหนึ่ง แลทรงประพาศถึงการอื่น ๆ ในการที่จะบำรุงอารามนั้นอิกหลายพระองค์ พอได้เวลา ก็เสดจพระราชดำเนินกลับคืนพระบรมมหาราชวัง”

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658901664393451/

๕๐) ข้อมูลตรงนี้นะครับ โรงเรียนนำเสนอมาโดยตลอดว่า พระราชดำริจะทรงตั้งโรงเรียนเกิดในวันนั้น ต้องขอเรียนแย้งด้วยความเคารพว่า ไม่ใช่ครับ เกิดก่อนหน้านั้นนานเลย ขอให้ติดตามผมต่อไปนะครับ ตรงนี้จะว่าด้วยเรื่อง “เพลิงไหม้วัดอรุณฯ” ให้จบไปก่อน “กุฎีแถวร้าง” ที่ว่าใน Post ที่แล้วนั้น เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ท่านบอกไว้ว่า “ทิมแถวนี้ ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงพระราชอุทิศสำหรับแกงสงฆ์ในพระอาราม” คำ “แกงสงฆ์” นี้ สันนิษฐานว่า อาจหมายถึงโรงครัวประกอบกับข้าว (แกง) ถวายพระก็ได้ เพราะตามวัตรปฏิบัติของภิกษุฝ่ายวิปัสสนา ของที่จะตกลงบาตรขณะบิณฑบาตได้ มีเพียงสิ่งเดียวคือ ก้อนข้าว (ไม่ใช่ปัจจัยนะครับ) ดังคำแปล ปิณฺฑปาต ว่า ก้อนข้าวที่ตก นั้น ด้วยเหตุนี้ แต่โบราณทายกทายิกาจึงนิยมตักบาตรเพียงข้าวขาวสุก (ข้าว Rice Berry อย่างปัจจุบันนี้ คงไม่ได้ครับ) แล้วนำกับข้าวมาถวายพระที่วัดหลังบิณฑบาต ผมเคยเห็นตามต่างจังหวัดหรือแม้ในกรุงบางวัดนะครับ ก็มีโรงครัว ฆราวาสทำแกงถวายพระอย่างนี้ครับ แล้วสมกับว่า ที่ตรงนี้ เดิมเป็น “หมู่กุฏิสงฆ์ เรียกว่าคณะกุฏิ อันเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระของวัด” พอไม่มีพระจำพรรษาแล้ว จึง “ให้ราษฎรเช่า หลังคามุงกระเบื้อง ๑๐ ห้อง ๑ หลัง ๖ ห้อง ๑ หลัง” หลังเพลิงไหม้ก็คง “ชำรุดทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์อยู่” บริเวณนี้คือ โรงเรียนประถมทวีธาฯ ในปัจจุบัน ขอให้ดูในรูปด้านล่างนะครับ ใบแรก แสดงที่ตั้งโรงเรียน ผมตัดมาจากใบที่ ๒ ซึ่งเป็นแผ่นเต็ม ขนาดใหญ่มาก แผนที่นี้ เก่าแก่ที่สุดที่พบครับ ขุนจารีรัฐเขตต์ (ไม่ทราบนามเดิม) นายเวรชั้น ๑ สำรวจเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๔ (วันพฤหัสบดี พ.ศ.๒๔๔๘ หลังสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ ๓ ปี) เข้ากรอบกระจก ติดไว้ที่ผนังหุ้มกลองพระอุโบสถด้านใน ตรงข้ามพระประธานครับ ท่านใดสนใจไปดูได้ พระท่านเปิดโบสถ์ทุกวัน แต่รูปที่ผมถ่ายมานี้ ผ่านกระจก ก็ต้องมีสะท้อนเป็นธรรมดาครับ

https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658913964392221/