๕๑) ขอพักเรื่องโรงเรียนไว้นิดหนึ่งนะครับ เมื่อวานนี้ (วันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖) พี่ Jeab Chaivut ได้ Post เรื่อง อ.ทัศนี บุณย์เพิ่ม (รูปนี้ท่านถ่ายกับพี่ ชัชวาลย์ รุ่งโรจน์บูรณ์ ครับ) ผมจึงขออนุญาตสมาชิกตรงนี้ เขียนเพื่อรำลึกถึงท่านนะครับ อ.ทัศนี สมัยผมท่านสอนลูกเสือครับ จำได้ว่า เวลาท่านเดินนำขบวนสวนสนามลูกเสือ คู่กับ อ.ศรีนคร หอมสุวรรณ (ลูกสาวอาจารย์วรสิทธิ) นักเรียนเชียร์ท่านเฮทั้งโรงเรียนเลยครับ ผมเพิ่งทราบว่าท่านสอนภาษาอังกฤษ มิน่าเล่า ความทรงจำที่แม่นมากก็คือท่านสอนถัก “ว๊อคเคิ่ลลลล” (ไม่ทราบจะเขียนยังไงให้สื่อได้ เอาว่า L นั้นชัดมากครับ ศัพท์นี้ผมไม่แน่ใจว่าสะกดอย่างไร ในโลก Cyber ว่า woggle ก็ว่าตามกันนะครับ) “ว๊อคเคิ่ลลลล” ที่ท่านสอนต้องใช้เส้นหนังครับ ไปซื้อที่ ศึกษาภัณฑ์ เวลาถักต้องขึ้นรูปกับไม้ให้แน่น ท่านไม่ให้ใช้เชือกร่มหรือไนล่อนนะครับ ว่าลื่น ไม่ดี “ว๊อคเคิ่ลลลล” ของพวกเราทั้งสวย ทั้งแน่น วิ่งยังไงก็ไม่หลุด ไม่เหมือนที่เป็นปลอก ไม่ว่าจะเหล็ก ยาง หนัง หลุดง่ายทั้งนั้นครับ เพื่อนผมใส่วิ่งเตะบอล ยังไม่หลุดเลย อีกอย่างหนึ่งที่ พี่ Jeab Chaivut เขียนเรื่องหนังสือภาษาอังกฤษนั้นนะครับ ถือเป็นวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของโลก ผมต้องมาอ่านเล่มเต็ม ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วก็ติดใจ หาเรื่องอื่นๆ มาอ่าน จริงแล้วสนุกมากครับ ต้องกลับไปรำลึกชาติจากหนังสืออ่านนอกเวลาที่ทวีธาฯ นี่แหละ ชาร์ลอตต์ ลอร์ดน้อยฟอนเติ้ลรอย ฯลฯ ผมเก็บไว้ทุกเล่ม ที่นำมาลงเป็นตัวอย่างนี้คือ The Hunchback of Notre Dame (พอเขียน Post ที่แล้ว จึงนึกได้) ดูเก่านะครับ แต่ถ้าเปิดข้างใน สะอาดเอี่ยมอ่อง ไม่มีริ้วรอยใดเลยครับ ที่จะสารภาพบาปในวันนี้ก็คือ เหล่านี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา อาจารย์ฝรั่งเศสท่านหนึ่งของผม (ไม่ขอออกชื่อนะครับ) ท่านทั้งเคี่ยว ทั้งเข็ญ แปลให้รู้ อ่านให้ฟัง ไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง แต่ไอ้เราน่ะหรือ นั่งตาแป๋วแหล๋วหน้าห้อง ไม่จด ไม่จาร ไม่จำเลย ใจไปอยู่โน่น เต่ง เตง เตร๊ง ท่านติว ท่านสอน เช้า กลางวัน เย็น ทั้งที่บ้านท่านก็อยู่แสนไกล รถราก็ไม่มี ต้องไปกลับรถเมล์ ที่สุดผมไปขอท่านว่า ไม่ติว เพราะจะไม่ใช้วิชาพวกนี้สอบ Ent. ผมจำแววตาผิดหวังเสียใจของท่านได้ชัดจนเดี๋ยวนี้เลยครับ กระนั้น ท่านก็ยังเขียน Friendship ให้ว่า “ขอให้ประกิตเป็นครูสอนดนตรี อย่าสอนวิชาการ” กษณะนั้น สำนึกผิดชอบชั่วดีเกิด แต่สายไปแล้ว ในที่สุด ด้วยเวรกรรม ผมก็มาเป็นรุ่นน้องท่านจนได้ แล้วก็มาเป็นครูดนตรีจนได้ ก็ต้องขอสารภาพบาปท่านไว้ ณ ตรงนี้ด้วยนะครับ อีกสิ่งหนึ่ง ผมทราบว่าปัจจุบันไม่มีหนังสืออ่านประเภทนี้แล้ว ส่วนตัวคิดว่าน่าเสียดายมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กๆ รู้จักวรรณกรรมชั้นเยี่ยม แต่ก็อย่างนั้นนะครับ เป็นธรรมดาโลก ขอจบด้วย นิทานข้อนี้สอนให้รู้ว่า “ในที่มืด เราจะไม่เห็นประกายของเพ็ชร ต่อเมื่อโยนมันไปอยู่ในที่สว่างและเสียมันไปแล้วนั่นแหละ จึงจะเห็น”
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3658971207719830/
๕๒) มีสมาชิกบอกว่า Post ของผมน่าจะ “ยอดนิยม” ไปแล้ว ในฐานะที่ “อยู่บ้านท่าน” ก็ต้องไม่ “นั่งดูดาย” ขอใช้เสียงน้อยๆ ๑ เสียง ช่วยประชาสัมพันธ์ตามกำลัง ขออนุญาตจั่วหัวเรื่องเช่นนี้ทุก Post จนกว่างานจะเสร็จสิ้นนะครับ คราวนี้ก็เรื่อง โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม ซึ่งผมเคยเขียนใน Post ที่ ๒๔ ไม่ทราบว่าจะกลับไปหากันพบหรือไม่นะครับ ผมขอทวนความให้เล็กน้อย เดิมผมลงหลักฐานไว้คร่าวๆ สัญญาว่าจะนำมาลงให้ครบ เมื่อถึงความที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า “โรงเรียนวัดอรุณฯ ถือกำเนิดขึ้นในเดือน ๘ บุรพาสาธ ปีรกาสัปตศก จ.ศ.๑๒๔๗ ซึ่งปีนี้ จันทรคติเป็นอธิกมาส ขึ้นเดือน ๘ บุรพาสาธ วันศุกร์ที่ ๑๒ มิถุนายน สิ้นวันเสาร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๘” นะครับ แต่โรงเรียนใช้ข้อมูลที่ว่า “โรงเรียนวัดอรุณฯ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๘” มาโดยตลอดกว่า ๖๐ ปี ข้อมูลนี้อยู่ใน “ประวัติโรงเรียนทวีธาภิเศก” (รูปนี้ ผมนำมาลงซ้ำเพื่อเตือนความจำครับ) อ.วรสิทธิ อินทาปัจ เรียบเรียง “พิมพ์ขึ้นเนื่องในงานทำบุญวันเกิดของโรงเรียนครบรอบ ๕๕ ปี วันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๐” (วันเสาร์) ที่ลงใน Post ที่ ๑๖ นะครับ ถ้าติดตามเรื่อง “เพลิงไหม้วัดอรุณฯ” จะเห็นได้เลยว่า ท่านคงจะสลับสับสนกัน ใน Post จากนี้ คงถึง “ความที่เกี่ยวเนื่อง” นั้นแล้วนะครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659596997657251/
๕๓) ขอเริ่มด้วยกำเนิด โรงเรียนวัดอรุณฯ ก่อนครับ เดือนปีที่ผมอ้างใน Post ที่แล้วนั้น มาจาก ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ แผ่นที่ ๓๖ วันอาทิตย เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีรกาสัปตศก ๑๒๔๗ (พ.ศ.๒๔๒๘) รูปที่ ๑-๗ ครับ ซึ่งต้องสอบสวนทวนความกลับไปกลับมาไม่น้อย สมาชิกอ่าน จะงงๆ ต้องตั้งสติกันดีๆ นะครับ คือ รูปที่ ๔-๖ เป็น “ตรางความรู้นักเรียน” รูปที่ ๗ เป็น “ตรางจำนวนนักเรียน” ทั้งหมดนี้แนบท้าย “ริโปดกราบบังคมทูลพระกรุณา” ของ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (ต่อมาคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ) กราบบังคมทูลฯ พระพุทธเจ้าหลวง รูปที่ ๑-๓ ครับ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ใน “ตรางความรู้นักเรียน” ปรากฏชื่อ “โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม” ตรง “ที่เลข ๑๒” รูปที่ ๖ ครับ ซึ่งมีข้อมูลว่า “เดือน ๗ ไม่มีนักเรียน เดือน ๘ บุรพาสาธ (แปดแรก) มีชั้นมูลบทบรรพกิจ ๓๔ คน เดือน ๘ อุตราสาธ (แปดหลัง) มีชั้นเดียวกัน ๔๕ คน” ตรงกับ “ตรางจำนวนนักเรียน” รูปที่ ๗ ซึ่งมีข้อมูลเพิ่มว่า “มีอาจาริย์ ๑ คน” ด้วยครับ ผมจึงต้องกลับไปดู “ริโปดกราบบังคมทูลพระกรุณา” อีกครั้ง ปรากฏความในรูปที่ ๒ ตอนท้ายๆ นะครับว่า “ในเดือนแปด บุรพาสาธ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นในพระอารามแขวงกรุงเทพ ฯ แห่ง ๑” ทำให้ต้องกลับมาสอบ “ตรางความรู้นักเรียน” ทั้งหมด ๓ แผ่นอีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นเพียงโรงเรียนเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีนักเรียนในเดือน ๘ บุรพาสาธ จริง ทั้งหมดนั้น นำมาสู่ข้อสรุป เดือนปีกำเนิดโรงเรียนวัดอรุณฯ ดังใน Post ที่แล้วครับ แต่เดือนจันทรคตินั้น คร่อมทางสุริยคติอยู่ ๒ เดือน คือเดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม จึงยากจะสรุปว่าเป็นเดือนใดในปัจจุบันแน่ แล้วก็น่าเสียดายที่ว่าไม่มีข้อมูลวันด้วยครับ ถ้ามีก็อาจระบุได้แน่กว่านี้ แต่เพียงเท่านี้ ผมว่า “กระจ่าง” แล้วนะครับว่า ปีกำเนิดโรงเรียนวัดอรุณฯ ไม่ใช่ พ.ศ.๒๔๓๘ แต่เป็น พ.ศ.๒๔๒๘ ครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659601780990106/
—
๕๔) เอกสารทั้งหมดใน Post นี้คือหนังสือ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลฯ พระพุทธเจ้าหลวงครับ เป็นข้อมูลโรงเรียนทั้งประเทศ ที่เริ่มตั้งมาได้เป็นปีที่ ๒ พ.ศ.๒๔๒๙ ของ กรมศึกษาธิการ ครับ ดังนั้น ผมจึงถือว่าโรงเรียนวัดอรุณฯ เป็นโรงเรียนหนังสือไทยแผนใหม่ รุ่นที่ ๒ ของประเทศ รองจากรุ่นที่ ๑ ซึ่งเราทราบกันดีว่าคือกลุ่มเดียวกับ โรงเรียนมหรรณพาราม เพียงปีเดียว พ.ศ.๒๔๒๗ หรือก่อนหน้านั้นนะครับ รูปที่ ๑-๓ เป็นหนังสือนำ รูปที่ ๔-๕ คือ “ตรางจำนวนโรงเรียนแลนักเรียนปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘” (พ.ศ.๒๔๒๙) “โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม” อยู่ใน “เลขที่ ๒๖” รูปที่ ๔ ตอนท้ายครับ ส่วนรูปที่ ๖-๑๒ เป็นรายงานฉบับแรกของโรงเรียน “อินสเปกเตอร์” ของพระเจ้าน้องยาเธอท่านไปตรวจ ว่ากันเป็นรายวันไปเลย แล้วมาสรุปรวม นับว่าถี่และละเอียดมาก ผมมีโอกาสอ่านรายงานฉบับให้หลังมา มีข้อมูลน้อยกว่านี้มากครับ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ในรายงานฉบับนี้ ทำให้เราทราบว่า โรงเรียนวัดอรุณฯ มีผู้อุปการท่านแรกคือ พระศรีสมโพธิ์ อาจาริย์ใหญ่ท่านแรกชื่อ นายศุขเปรียญ อาจาริย์รองชื่อ นายเพื่อน ซึ่งต่อมาจะเป็นอาจาริย์ใหญ่ท่านที่ ๒ ครับ ลองอ่านกันดูนะครับ ผมว่าสมาชิกจะได้ทราบข้อมูล โรงเรียนวัดอรุณฯ ขึ้นอีกมาก รายงานโรงเรียนเช่นนี้ ยังมีอีกต่อๆ ไปทุกปี จนมาตั้งเป็นโรงเรียนเรา ผมขอนำมาลงเพียงเท่านี้แล้วกันนะครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659622417654709/
—
๕๕) คราวนี้เป็นเกียรติประวัติของ โรงเรียนวัดอรุณฯ นะครับ ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่มนี้ (เล่ม ๕ แผ่นที่ ๔ วันอังคาร เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีชวด ยังเปนนพศก ๑๒๔๙ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๑) ปรากฏชื่อ “นายวาด นายวร” ได้รับพระราชทาน “รางวัลวิเศศ สำหรับนักเรียนที่ไล่ได้ตลอดวิชา ชั้นประโยคที่ ๑ โดยสามัญ ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในวัน ๕ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีชวด ยังเปนนพศก จ.ศ.๑๒๔๙ (วันพฤหัสบดีที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๑) เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ” นะครับ แต่ถ้าสมาชิกอ่านในรายงานโรงเรียน Post ที่แล้ว จะพบชื่อ “นายเผื่อน อายุ ๑๔ ปี บุตรนายเหลี่ยม” ก็สมควรได้รับพระราชทานและเป็นรางวัลที่ ๑ ด้วย (รูปที่ ๑๑ กลางๆ ครับ) ตรงนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น ส่วนรางวัลนั้นก็ไม่เหมือนกัน ในรายงานว่า นายวาด รางวัลที่ ๔ นายวร รางวัลที่ ๕ แต่ใน ราชกิจจาฯ ว่าเป็น รางวัลวิเศศ ก็แปลกๆ อยู่นะครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3659631564320461/
—
๕๖) คง “กระจ่าง” เรื่อง โรงเรียนวัดอรุณราชวราราม กันแล้วนะครับ Post นี้จะเข้าเรื่องสำคัญแล้วครับ คือการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งรวมถึงการสร้างโรงเรียนเราด้วยนั้นมี Drama กันมากครับ ภายหลังคงเพื่อความแน่นอน พระพุทธเจ้าหลวงท่านจึงมีพระราชกระแสระบุตัวว่า “การเรื่องนี้โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาเปนอธิบดี พระราชโยธาเทพ แลจมื่นจงภักดีองค์ขวา เป็นแม่กองจัดการปฏิสังขรณ์ต่อไป” เมื่อถึงความที่เกี่ยวข้อง ผมจะนำต้นฉบับมาลงนะครับ ตอนนี้ขอเรียนแต่เพียงว่า แม้ซ่อมแซมพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว แต่การปฏิสังขรณ์พระอาราม ก็ยังมีเรื่อยไปจนปลายรัชกาล เมื่อมาเขียน Post นี้ จำได้ว่าสัญญากับ นายมานพ ติดกระจกเงางาม ไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งต้องขออนุญาตสมาชิกว่า “ไม่เกี่ยวกันเลยกับเรื่องสร้างโรงเรียน” แต่เมื่อพบเอกสารสำคัญชุดนี้โดยบังเอิญ เพราะอยู่ในแฟ้มเดียวกับที่ผมขอไป ผมซาบซึ้งในความคิดความอ่านของพระพุทธเจ้าหลวงท่านมากครับ ถึงกับขอ Scan เพิ่มมา เจ้าหน้าที่ก็ไม่ว่าอะไรนะครับ บอกเพียง “อาจารย์มีเงินก็สั่งมาเลยค่ะ ๗ หน้าๆ ละ ๔๐ บาท ๒๘๐ บาทพอดีค่ะ” ในงานค้นคว้าฉบับสมบูรณ์ก็ไม่มีช่องลง จึงขออนุญาตลงใน Post นี้ เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ท่านเสด็จแทนพระองค์มาทรงถวาย (บางคนอาจว่าผมใช้ผิด คำนี้ผมใช้เป็น สังฆศัพท์ ไม่ใช่ ราชาศัพท์ ครับ) ผ้าพระกฐินหลวง ที่ วัดอรุณฯ พอดี นายมานพ ไปรับเสด็จฯ อยู่ตรงจุดที่เราจะเขียนถึง ผมจึงสัญญาว่าจะเขียนให้ ดังนี้นะครับ วันนั้นท่านเสด็จรถ ไม่ได้เสด็จเรือ ไม่ใช่กระบวนนะครับ อันนั้นต้อง สถลมารค หรือ ชลมารค ซึ่งจะต้องเทียบที่ “ศาลาพระเสด็จ” ศาลานี้ ผมไม่ทราบว่า ยังเรียกกันหรือไม่นะครับ แต่ไม่ว่าทางใด โดยใด ก็ต้องเสด็จฯ ผ่าน “ซุ้มประตูมงกุฎ” หน้าพระอุโบสถ ที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ท่านว่า “งามไม่มีเสมอสอง” ซุ้มนี้หวิดจะถูกรื้อไปแล้วนะครับ แต่ว่าพระพุทธเจ้าหลวงท่านสกัดดาวรุ่งไว้ได้ ดาวรุ่งผู้นั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล พระราชโยธาเทพ (กอน หงสกุล) หรือต่อมาเป็น พระยาราชสงคราม แม่กองสร้างโรงเรียนเรานี่แหละครับ แต่เราจะไปโทษ เจ้าคุณครู ท่านไม่ได้นะครับ ต้องเข้าใจว่าสมัยนั้น ไม่มีความคิดอนุรักษ์โบราณสถาน ทวงคืนโบราณวัตถุ หรือ จัดการมรดกโลก อะไรอย่างปัจจุบัน ขอให้ลองอ่านในเอกสารที่ผมเรียงมานะครับ รูปแรก เจ้าคุณครู ท่านบอกกระทรวงฯ มาว่าต้องใช้เงินหมื่นหก เจ้าพระยาวิชิตวงศ์ฯ เสนาบดี ท่านก็ว่า มีเงินอยู่สี่ร้อย ขอให้นำความกราบบังคมทูล ดังรูปที่ ๒-๓ นะครับ จากนี้ผมไม่ขอนำมาเขียน อยากให้สมาชิกอ่านในรูปที่ ๔-๕ เอาเอง พระราชกระแสนั้น จับใจผมมากครับ เห็นได้เลยว่า พระราชดำริไม่เหมือนผู้คนในสมัยนั้น หากไม่ทรงทำเช่นนี้ สงสัยว่า “ซุ้มประตูมงกุฎ” คงจะหายจากประวัติศาสตร์ไปแล้ว ส่วนรูปที่ ๖-๗ นั้น คือ ร่างพระราชหัตถเลขา ที่ กรมราชเลขานุการ จะส่งพระราชกระแสไปยังกระทรวงฯ นะครับ เอาล่ะครับ ผมได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับ นายมานพ แล้ว รับรอง Post หน้า เข้าเรื่องสำคัญแน่นอนครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660007067616244/
—
๕๗) เมื่อราวตี ๔ กว่าๆ วันนี้ (วันอังคารที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖) ผมเจอ “สนเท่ห์” อีกแล้วครับ ต้องขออนุญาตสมาชิก เขียนเรื่องนี้แทรกเรื่องโรงเรียนเราหน่อยครับ คือ พอตื่นมาผมก็คว้าโทรศัพท์ ซึ่งก็คงเป็นอาการของโรค Cyber Syndrome ที่พอมี FB ก็เลยเป็นกับเขาบ้าง ผม Check Face ตามปรกติ แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรเลย กดเข้าไป “ส่อง” พี่ Mana Vasa พบว่าท่าน Post ถามหารูป อ.หวั่น ชุลมุน ผมใจหายวาบ เพราะการ “ส่อง” นั้น ไม่เคยทำเลยนะครับ นี่เป็นครั้งแรก ไม่รู้อะไรดลมือ (ไม่ใช่ใจนะครับ) ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เข้าไป “ส่องความคิดเห็น” ซึ่งมีเกือบ ๓๐๐ เลยนะครับ พบว่าเรื่อง อ.หวั่น เกี่ยวกับ ไม้เรียว คมแฝก และ การลงโทษ ทั้งนั้น ท่านน่าจะเป็น “ตัวตึง” ในสมัยนั้น สงสัยไม่เขียน คงไม่ได้แล้ว ขอเรียนก่อนว่าข้อมูลเหล่านี้มาจากอาจารย์ โรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ท่านหนึ่ง (ไม่ขอออกชื่อนะครับ) อาจารย์ท่านนี้สนิทกับ อ.หวั่น มาก คล้ายๆ กับว่า ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน ท่านเล่าเรื่อง อ.หวั่น ให้ผมฟังหลายปีมาแล้ว ตอนนั้น ผมก็ไม่มีโอกาสไปเผยแพร่ที่ไหน นี่สงสัยว่า อ.หวั่น คงคิดถึง ทวีธาฯ ขึ้นมาหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงเป็นเช่นนี้นะครับ อีกอย่างหนึ่งตัวผมเองไม่ค่อยสัมผัสกับ ไม้เรียว ของท่านมาก ความทรงจำก็อาจเลือนลาง ถ้าพี่ๆ ท่านใดมีความเห็น รบกวนส่งกันเข้ามาได้เลยนะครับ ผมจำได้ว่าวันหนึ่ง อ.สำเนียง เดินเข้ามาบ่นตุบตับ “แก่ (อ.ประยูร ฟักภู่ สามีท่านครับ ท่านเรียกกันอย่างนี้) ตาหวั่น น่ะ เอาตู้ชั้นไป ๒ ใบ แล้วเทของชั้นทิ้งไว้กลางสนาม” เมื่อเร็วๆ นี้ ผมโทรศัพท์ไปถามท่านว่าจำได้ไหม ท่านว่าจำได้ แล้วยังเพิ่มเติมว่า “ครูเคยไปสอนวัดดุสิตนะ อ.หวั่น นั่นแหละตามไปสอน ตอนแกเป็น ผอ. ครูยังถามแกเลยว่า นี่คุณหวั่น คุณเอาตู้ชั้นไป ๒ ใบจำได้หรือเปล่า แกว่าจำได้ ขอผมเอาไปใช้ที่ใหม่เถอะ คุณไปหาเอาใหม่ เครื่องดนตรีที่นั่น ครูก็เป็นคนซื้อ วงดนตรีครูก็เป็นคนตั้ง” มิน่าเล่า แต่ก่อนเวลาท่านจะ “แว่บ” ไปสอน ท่านมักพูดว่า “ประกิต เดี๋ยวครูไปสอนวัดดุสิตนะ ถ้าใครมาหา มาตาม เธอบอกเขาไปว่า ครูเข้าห้องน้ำนะ” ซึ่งพวกเราชอบมากเวลาท่านบอก เพราะจะแอบเอาวิทยุเทปที่ท่านหวงมาก ออกมาเล่นดนตรีบันทึกไว้ฟังกันเล่นๆ ครับ ตรงนี้ ผมว่าเมื่อ อ.หวั่น ย้ายไปแล้ว ท่านอาจกลับมาสอนพิเศษ หรือมาตามครูเราไปช่วยสอนที่นั่นก็อาจเป็นได้นะครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660627884220829/
—
๕๘) อ.หวั่น ไปสร้างคุณูปการไว้ที่ วัดดุสิต มาก ผมขอเล่าไปเรื่อยๆ ตามที่อาจารย์ท่านนั้นเล่ามานะครับ ขอเสริมนิดว่า อาจารย์ท่านนั้นบอก “โรงเรียนวัดดุสิต ก็เปรียบเสมือนโรงเรียนน้องของทวีธาฯ” ผมก็เห็นจริงตามนะครับ เมื่อแรกไปถึง ท่านก็ไปจัดการสลัมที่เรียกกันว่า “บ้านเป็ด” ออกไปจากโรงเรียน สลัมนี้ต้มเป็ดที่เก็บซากมาจากเป็ดไล่ทุ่งน่ะครับ จึงมีกลิ่นรัญจวนไม่น้อย ท่านใช้วิธีไปเช่า พระสมเด็จวัดระฆัง แล้วเลี่ยมทอง แจกให้บ้านที่แสดงความจำนงว่าจะย้ายไปทีละหลังๆ จนหมด จากนั้น ท่านก็เริ่มสร้างตึก ซึ่งแฝงด้วยนามสกุลใหม่ของท่าน ตรงนี้ขอเรียนว่า เดิมท่าน ชุลมุน นะครับ พอไปอยู่ วัดดุสิต แล้ว ถึงเป็น จุลมุน การแฝงชื่อตึก เช่น ตึกจุลี ก็มาจาก จ ครับ เดิมเพลงประจำโรงเรียนไม่มี ท่านก็ขวนขวายหาครูมาแต่งให้ทั้งเนื้อร้องทำนอง ซึ่งไม่ใช่คนอื่นเลย ครูธนิต ผลประเสริฐ และภรรยา ครูเยาวลักษณ์ โกมารกุล ณ นคร เจ้าของวงดนตรี ธนิตสรณ์ อันโด่งดังไม่แพ้ สุนทราภรณ์ ในอดีต ครูธนิต ผมเรียกท่านว่า ครูเรือง ท่านเป็นลูกศิษย์ของ ครูเฉลิม บัวทั่ง อาของ อ.สำเนียง ครับ ครูเรือง ท่านเป็นผู้เรียบเรียง (Arrange) เพลงมาร์ชทวีธา แต่ไม่ใช่ผู้แต่งนะครับ ผู้แต่งเนื้อคือ อ.จินตนา วรรณโกมล ทำนองเป็นใครไม่ทราบครับ แต่เพลงอื่นๆ ของโรงเรียนเรา ทั้ง ๒ สองท่านร่วมกันแต่งในสมัย ผอ.สำเริง เรื่องนี้ต้องเรียนเชิญ อ.จิรวัฒน์ โคตรสมบัติ มาอธิบายครับ คราวนี้ มีตึก แต่ไม่มีใครมาเรียน เพราะตอนนั้น วัดดุสิต ตกต่ำมาก นักเรียนมีอยู่ไม่ถึงร้อย ท่านเรียกประชุมครู มีความเห็นหนึ่งเสนอว่า ให้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “ดุสิตารามวิทยาคม” ท่านไม่รับ ว่าเชย เปลี่ยนเครื่องแบบดีกว่า ตอนนั้น ป๋าเปรม เป็นนายก กำลังฮิต “ชุดพระราชทาน” ท่านก็ทำหนังสือไปขออนุญาตมาเป็นชุดประจำโรงเรียน ป๋า ท่านตอบตกลง อนุญาตทันที แล้ว อ.หวั่น ก็ส่งเด็กไปประกวดมารยาท ได้รางวัลที่ ๑ ของประเทศ ปีนั้น มีผู้มาสมัครเข้าเป็นนักเรียนมืดฟ้ามัวดิน ชุดนี้ ปัจจุบันนักเรียนยังใส่กันทุกวันศุกร์ครับ (ผมก็ใส่ ดูรูปที่ ๔ ครับ อาจารย์ท่านนั้นให้มาเป็นที่ระลึก ๓ ตัว) เครื่องแบบนักเรียนชายที่เข็มขัดเป็นสีน้ำตาล มีเพียง พี่ทวีธาฯ กับ น้องวัดดุสิต เท่านั้นนะครับ ท่านถึงโกรธนักโกรธหนาที่ทางกระทรวงหวังดี ย้ายท่านไปเป็น ผอ.ที่ ชิโนรส เพราะอยากให้ท่านเกษียณที่โรงเรียนใหญ่ ท่านเข้ากระทรวงไปต่อว่า อ.บรรจง ชูสกุลชาติ ปลัดกระทรวงว่า “ทำกับผมอย่างนี้ได้อย่างไร ผมสร้างดุสิตารามมากับมือ ผมก็อยากไปจากที่ๆ ผมสร้างมา” เรื่องของ อ.หวั่น ที่ผมทราบก็มีเท่านี้ครับ รูปที่นำมาลง หวังว่ารุ่นพี่ๆ คงจำได้นะครับ รูปแรก จากซ้าย อ.บุญเทียม อุตสาหพานิช อ.แถม จรัสไธสง อ.หวั่น ชุลมุน และ อ.วิเชียร พงษ์สมบูรณ์ ถ่ายในงานไหว้ครู แต่ไม่ทราบปีครับ ส่วนอีก ๒ รูป อ.หวั่น ยืนบัญชาการอะไรไม่ทราบ คาดว่าถ่ายเมื่อสร้าง ตึกพิทยลาภพฤฒิธาดา เสร็จใหม่ๆ รูปที่ ๒ ฉากหลังคือ ตึกพิทย์ฯ รูปที่ ๓ คือ เล้าไก่ ครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660632287553722/
—
๕๙) มีอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมตั้งใจแต่แรกว่าจะไม่เขียน แต่เห็นรุ่นพี่หลายท่าน “กระแซะ” มา จึงตัดสินใจเขียน อาจจะสะเทือนใจใครไปบ้าง ก็ขอให้ถือว่าเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์นะครับ ก่อนอื่น ผมต้องกราบขอประทานโทษทุกท่านที่จำต้องอ้างถึงต่อไปใน Post นี้นะครับ หากไม่ระบุนาม ก็คงไม่ “กระจ่าง” แม้เรื่องที่เขียนนี้จะ “เลือนราง” ก็ตาม ท่านใดมีข้อมูล ส่งมาแลกเปลี่ยนกันได้เลยนะครับ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ นั้นส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทุกวงการ โรงเรียนเราก็เช่นกันครับ ช่วงนั้น อ.เรวัต ชื่นสำราญ ซึ่งเป็น อาจารย์ใหญ่ ท่านสุดท้าย แล้วมาเป็น ผู้อำนวยการ ท่านแรก (รูปที่ ๒ ครับ) ถึงกับต้องขอลาออกจากราชการด้วยเหตุนี้เลย เพราะยุคนั้น “เสรีภาพเบ่งบาน” อ.สันต์ วิศาลสิงห์ ท่านเขียนไว้ว่า ในโรงเรียนมีการตั้ง สภาครู สภานักเรียน อะไรกันมากมาย ซึ่ง อ.ธีรรัช วงศานาถ (อุทัย เคนท้าว) เพิ่มเติมไว้ชัดเจนว่า “เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขาดผู้ประสานความเข้าใจที่ดีต่อกัน ความกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้ผู้อำนวยการเรวัต ชื่นสำราญ ยื่นใบลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ” อ.สันต์ จึงมาเป็น รักษาการผู้อำนวยการ อยู่ราว ๓ เดือน ผมคิดว่าที่ อ.หวั่น และอาจารย์ฝ่ายปกครองหลายท่านดุมาก ก็คงเป็นด้วยว่า ต้องคุมนักเรียนให้อยู่มือ หากมีเรื่องราวเกิดขึ้น ต้องระงับเหตุให้ได้ รุ่นพี่หลายท่านเล่าว่า อาจารย์บางท่านต้องพกอาวุธประจำตัวไว้ด้วย เช่น อ.แถม (ซึ่งผมทราบมาว่าท่านชอบปืน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าที่ท่านต้องพกปืนจะเป็นด้วยเหตุนั้นนะครับ) แต่อย่างไรก็ดี สรุปว่า โรงเรียนทวีธาภิเศก จะเกิดความวุ่นวายไม่ได้ กระทรวงต้องส่งคนดีมีฝีมือมาเป็นผู้อำนวยการ ท่านนั้นต้องประสาน สร้างความประนีประนอมให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะครูกับนักเรียนให้ได้ ที่สุดก็ส่ง อ.สำเริง นิลประดิษฐ์ มา แล้วก็ต้องมาอย่างมีเกียรติสูงสุด คือ รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา (รูปที่ ๑ ซึ่งเคยลงมาแล้วนะครับ ผมนำมาลงซ้ำ เพื่อเตือนความจำครับ) อ.สำเริง เขียนไว้ชัดเจนเลยครับว่า “ปี ๒๕๑๖-๒๕๑๗ มีเหตุการณ์สับสนวุ่นวายทางการเมือง ตลอดรวมทั้งวงการศึกษา ลุกลามเข้าโรงเรียนทวีธาภิเศกด้วย กรมวิสามัญศึกษาขณะนั้น จึงย้ายข้าพเจ้าจากอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการชั้นพิเศษ (โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม) โรงเรียนทวีธาภิเศก” ซึ่งมาเพื่ออะไร ก็เพื่อระงับเหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านั้น มิให้บานปลายออกไป อย่าลืมนะครับว่า เหตุการณ์มหาวิปโยคในครั้งนั้น ยุติลงด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ การได้รับพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ ถือเป็นเกียรติยศสูงสุด ตั้งแต่ตั้งโรงเรียนมาจนปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยมีใครได้รับเช่นนี้นะครับ แล้วก็เป็นโชคดีของโรงเรียนเราจริงๆ ที่ได้ท่านมา เพราะไม่ว่าผมถามใครต่อใคร ท่านเหล่านั้นจะตอบผมว่า ยุค อ.สำเริง เป็นยุคที่โรงเรียนเจริญก้าวหน้าอย่างที่สุดจริงๆ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3660761410874143/
—
๖๐) Post นี้ ยาวมาก แต่อยากให้ทุกท่านอ่านกันไปจนจบนะครับ ก่อนจะกลับเข้าไปประวัติโรงเรียน ผมเจอ “สนเท่ห์” เข้าอีกแล้ว ในวันพุธที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๖ พี่ Wachara Srichamara ได้แสดงความคิดเห็นตอบ Post ที่ ๕๙ ของผม ท่านอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ได้ ขอนำมาลงพร้อมคำตอบของผมโดยไม่ตัดเลย แต่ขอเน้นข้อความหน่อย ดังนี้ครับ Wachara Srichamara “ข้อความที่น้องกล่าว เป็นเรื่องที่พี่เคยได้มีโอกาศพูดคุยกับ อ.สัญญา แต่ตอนนั้นท่านเป็นองคมนตรี เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้ง อ.สำเริง มาเป็น ผอ.ทวีธา เพราะท่านถามที่พี่ว่าจบมาจากไหน พอท่านรู้ว่าตอนมัธยมต้น เรียนที่ทวีธา ท่านเลยถามต่อว่า ตอนเรียนทวีธา ใครเป็นผู้อำนวยการ อ.สำเริง หรือเปล่า อ.สัญญา ท่านบอกว่า “ท่านเป็นผู้กราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่แล้ว ถึงความเหมาะสมของ อ.สำเริง ต่อการมาทำหน้าที่ผู้ปกครอง ร.ร.ทวีธาเรา ในฐานะท่านเป็นศิษย์เก่า” เรียกว่าท่านชงผู้มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ ซึ่งก็คือ อ.สำเริง ทั้งที่ อ.สัญญา บอกว่าไม่ได้รู้จัก อ.สำเริง เป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด แต่พี่ก็ไม่ได้ถาม อ.สัญญา ว่าท่านมีเกณฑ์การพิจารณาในครั้งนั้นอย่างใด เรียกว่า ตอนนั้นปากหนักไปหน่อย” ประกิต สะเพียรชัย “เรียนพี่ Wachara Srichamara นี่เป็นข้อมูลที่สำคัญมากเลยนะครับ ไม่ทราบว่าพี่จะรังเกียจไหมครับ หากผมจะขออนุญาตนำไปลงใน “ทวีธาวัดนาคกลาง” เพราะข้อมูลนี้ เดิมผมสันนิษฐานเอาเอง เพราะผมเชื่อว่า ต้องมีความเกี่ยวพันกับสถาบันอย่างแน่นอน แล้วนี่ก็เป็นจริงตามที่ผมสันนิษฐานแล้ว ข้อมูลนี้น่าจะได้รับการเผยแพร่ เพราะเป็นเกียรติประวัติของโรงเรียน ตัวอาจารย์สำเริง และสำคัญที่สุด พระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่แล้วนะครับ ผมพิมพ์ตอบพี่แทบจะไม่ได้เลย ขนลุกซู่ไปหมด ซาบซึ้งจริงๆครับ ขอบพระคุณมากครับ สวัสดีครับ” Wachara Srichamara “ได้เลยครับด้วยความยินดี แต่วันที่ที่พี่ได้สนทนากับ อ.สัญญา พี่จำวันที่ไม่ได้แน่นอนนะครับ เพราะที่จดบันทึกไว้ก็หายระหว่างการขนย้ายที่พัก แต่เป็นช่วงหลังปี ๒๕๓๕ ลงมาแน่นอนครับ” ดังปรากฏในคำตอบที่ผมส่งไปนะครับ ว่าเป็นเรื่องที่คาใจผมนามานมาก ที่สุด พี่ Wachara Srichamara ก็มาเป็น “สนเท่ห์” ของผมจนได้ แล้วน่าจะเป็น “พระบารมี” ล่าสุดที่ผมได้รับด้วย อีกประการหนึ่ง ความตอนจบของ Post ที่แล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนที่ทันท่าน ต้องยอมรับเช่นนั้นจริงๆ แล้วนักเรียนสมัยนั้น ซึ่งเป็น “ยุคเสรีภาพเบ่งบาน” บางครั้งก็ “เบ่ง” และ “บาน” กันจนเกินไป ผมมีตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งขอความกรุณาว่าจะไม่เอ่ยนามทุกท่าน เว้น อ.สำเริง นะครับ เพราะเรื่องมันก็นมนานกาเลมาแล้ว ที่ผม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ขึ้นมา ก็เกินหน้าที่ไปไม่น้อย แต่ผมอยากจะแสดงกตเวทิตาคุณท่าน ในฐานะ ลูกทวีธาฯ คนหนึ่ง และในขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ด้วย ดีกว่าจะไปสรรเสริญตอนที่ท่านไม่รับรู้อะไรแล้ว ถ้าผมมีโอกาสพบท่าน ผมอยากจะเชิญสำเนา “พระบรมราชโองการ” ฉบับนี้ ไปให้ท่านดู ท่านจะมี ไม่มี ผมไม่ทราบ แต่ผมซาบซึ้งใจมากครับ ขอเล่าเรื่องนั้นก่อน ดังนี้นะครับ อ.๑ มาบรรจุใหม่ในยุคนั้น แล้วก็เจอเดช เด็กทวีธาฯ ทันที คือ ในการสอบคราวหนึ่ง อ.๑ ต้องคุมสอบ ต้องแจกข้อสอบ ฯลฯ ซึ่งท่านต้องใช้สมาธิไม่น้อยนะครับ หากผิดพลาดไป ท่านต้องรับผิดชอบเต็มๆ นาย ๑ ก็หัวเราะอยู่นั่น แล้วไม่เบาด้วย ท่านก็ขอให้หยุด แล้วก็อบรมด้วย นาย ๑ ก็ไม่หยุด ทั้งยังท้าทายท่านด้วยการยืนชี้หน้า แล้วว่า “นี่ถ้ากูไม่เห็นว่ามึงเป็นครูบาอาจารย์นะ กูจะออกไปตบแล้ว” ตรงนี้ ตอนที่ผมได้ยิน อ.๑ เล่าให้ฟัง ผมแทบลมจับ มันมีจริงหรือนี่ นิยายยังไม่กล้าเขียนอย่างนี้เลยนะครับ แต่ท่านเล่าว่า วันนั้นก็จบเรื่องราวไปด้วยเพื่อนๆ ห้าม แล้วท่านก็อยากให้สอบให้เสร็จ ที่ไหนได้ ไม่จบแค่นั้น นาย ๑ เป็นน้องชายแท้ๆ ของ อ.๒ ให้หลังไม่กี่วัน อ.๑ เดินไปซื้อกาแฟหน้าโรงเรียน อ.๒ เรียกทัวร์มาลงทันที เชิญ อ.๑ เข้ามาด่าในห้องพักครู ซึ่งทุกท่านก็มอง อ.๑ เป็นตาเดียว ตรงนี้ผมขอแสดงความเห็นส่วนตัวนะครับว่า ไม่ยุติธรรมกับ อ.๑ เลย อ.๒ เข้าข้างน้องตนเอง โดยไม่ดูผิดถูก อ.๑ อายมาก ร้องไห้โฮ น้ำตาไหลพราก เดินออกจากห้อง ขึ้นไปที่หมวด หัวหน้าหมวดตกใจ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น อ.๑ ก็เล่าไป สะอื้นไป หัวหน้าหมวดท่านก็แสนดี อุตส่าห์บอกว่า “เอาล่ะ วันนี้หนูกลับบ้านไปก่อนได้ พี่อนุญาต” แต่ไม่จบแค่นั้นครับ รุ่งขึ้น เรื่องไปถึง อ.สำเริง ได้อย่างไรไม่ทราบ ที่สุดท่านตัดสินว่า ต้องให้ นาย ๑ เอาพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอสมาลาโทษ อ.๑ ที่หน้าเสาธง แล้วเฆี่ยนต่อหน้านักเรียนทั้งโรงเรียนพรุ่งนี้ กรณีเดียว ไม่มีต่อรอง แล้วอย่างไรทราบไหมครับ มี อ.๓ มาเกี่ยวข้อง ท่านสนิทกับ อ.๒ มาก มาขอร้อง อ.๑ ว่าอย่าให้ถึงขั้นนั้นได้ไหม เห็นแก่เด็กเถิด อ.๑ ก็ว่า “อาจารย์ต้องไปเรียน ผอ. ค่ะ เพราะหนูไม่ได้เป็นคนตัดสิน หนูทำตามคำสั่งค่ะ” อ.๓ ก็คนจริงเหมือนกัน ไปหา อ.สำเริง ท่านก็เรียก อ.๑ ไปถามว่า “คุณจะเอายังไง แล้วแต่คุณ” อ.๑ ก็ไม่อยากให้มันใหญ่โตไป แล้วท่านก็เพิ่งมาบรรจุ ก็เลยมาขอขมากันที่ฝ่ายปกครอง เรื่องก็จบ เป็นอย่างไรบ้างครับ ฟังแล้วน่าอ่อนใจไหมครับ คำว่า “ยิ่งกว่านิยาย” ผมก็เพิ่งทราบว่ามีจริง ตอนที่ท่านเล่าให้ฟังนี่แหละครับ แต่เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึง “ยุติธรรมและคุณธรรมประจำใจ” นั้น มีในดวงจิตของ อ.สำเริง อย่างเต็มเปี่ยม ท่านไม่เกรงอาวุโส ไม่เกรงความสนิท ดูที่เหตุและผลอย่างเดียว แม้ท่านอยู่ที่โรงเรียนเราไม่กี่ปี แต่ความเจริญที่ท่านทำให้ ผมขอนำคำ พระธรรมไตรโลกาจารย์ (สำเภา ติสาโร) เจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติ (ท่านมรณภาพไปแล้วครับ) พระอุปัชฌาย์ผม ที่เคยสอนไว้มาเปรียบนะครับ คือตอนนั้นคุณพ่อผมเสีย อีกปีหนึ่ง ผมถึงบวชให้ท่านได้ เพราะไม่มีเวลา แล้วไอ้คำนี้แหละ ทำให้ผมเรียนท่านไปว่า “ผมบวชได้ ๒๐ กว่าวันเองนะครับ เสียดาย อยากอยู่มากกว่านั้น” ท่านว่า “หลวงพี่ คนเราน่ะนะ อยู่ในโลก ๑ วัน แต่ทำความดี ย่อมเป็นกุศล มากกว่าคนอยู่ในโลก ๑๐๐ ปี ไม่เคยทำความดีสักครั้ง” สุดท้ายนี้ ผมขอจบด้วยรูปชุดที่ อ.สำเริง จะจาก ทวีธาฯ ไปอยู่ สวนกุหลาบ นะครับ อ.๑ และอีกหลายท่านเล่าให้ผมฟังว่า อาจารย์เราแทบจะ “ทั้งโรงเรียน” ไปส่งท่าน ท่านเป็นดังที่พระอาจารย์ เจ้าคุณอุปัชฌาย์ผมว่าไว้จริงๆ ครับ
https://www.facebook.com/groups/1763013633982273/posts/3661792260771058/